เตรียมจัดงาน “มหกรรมการแสดงศิลปะพื้นบ้านอีสานใต้” กระตุ้นท่องเที่ยววิถีวัฒนธรรมชุมชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจบุรีรัมย์

วันนี้ (21 ก.พ.66) เวลา 09.30 น. ที่โรงแรม เดอศิตา ปริ้นเซส อ.เมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ นายปิยะ ปิจนำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นประธานการสัมมนาสื่อมวลชน และเครือข่ายการประชาสัมพันธ์ จ.บุรีรัมย์ ตามโครงการประชาสัมพันธ์ยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัดและนโยบายจังหวัดบุรีรัมย์ ประจำปี 2566 แถลงข่าว การจัดงาน “มหกรรมการแสดงศิลปะพื้นบ้านอีสานใต้” ท่องเที่ยววิถีวัฒนธรรมชุมชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจบุรีรัมย์ เพื่อสื่อมวลชนและเครือข่ายประชาสัมพันธ์ จะได้นำข้อมูล ข่าวสาร ที่เกี่ยวข้อง ถูกต้อง ชัดเจน จากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ และเข้าใจแก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ ก่อให้เกิดความร่วมมือ ในการขับเคลื่อนกิจกรรมของจังหวัด ทั้งยังเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกัน ระหว่างส่วนราชการ กับเครือข่ายสื่อมวลชน ด้วย โดยในกิจกรรมครั้งนี้ ได้เชิญ นางแสงเพชร ลำไธสง วัฒนธรรมจังหวัดบุรีรัมย์ และนางรัชนี สาระวิถี ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดบุรีรัมย์ ร่วมให้ข้อมูลการจัดกิจกรรม ด้วย

รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า จังหวัดบุรีรัมย์มีแนวทางนโยบายการขับเคลื่อนจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อพัฒนาศักยภาพเป็น “ศูนย์กลางการท่องเที่ยวอารยธรรมขอมและกีฬามาตรฐานโลก เพิ่มขีดความสามารถในการผลิตสินค้าการเกษตรและอาหารปลอดภัยอย่างยั่งยืน ส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากไหม รวมถึงส่งเสริมการค้าชายแดนเพื่อการค้าและการลงทุน” หลายกิจกรรมที่จัดขึ้นในพื้นที่จังหวัด จะเชื่อมโยงไปยังการท่องเที่ยวของชุมชน ทำให้ชุมชนได้รับรายได้จากการขายสินค้า ของที่ระลึก การให้บริหารบ้านพักโฮมเสตย์ เช่น หมู่บ้านท่องเที่ยวโดยชุมชน หมู่บ้านสวายสอ หรือ หมู่บ้านนกกะเรียน ชิมอาหารพื้นบ้าน พร้อมเรียนรู้วัฒนธรรมชุมชน การจัดงาน “มหกรรมการแสดงศิลปะพื้นบ้านอีสานใต้” ขึ้น ถือว่าเป็นอีก ๑ กิจกรรม ที่จะช่วยส่งเสริมสนับสนุนการท่องเที่ยว สร้างงานสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นกับชุมชนในจังหวัดบุรีรัมย์

วัฒนธรรมจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า การจัดงาน “มหกรรมการแสดงศิลปะพื้นบ้านอีสานใต้” เพื่อก่อเกิดการส่งเสริมความเป็นไทย สร้างจิตสำนึก อัตลักษณ์ความเป็นไทย การเรียนรู้ด้านศิลปะ วัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีในท้องถิ่น และส่งเสริมการนำทุนทางวัฒนธรรม มาต่อยอดสร้างรายได้แก่ประชาชนในชุมชน พัฒนาเศรษฐกิจชุมชน กิจกรรมมีขึ้น ระหว่างวันที่ 24 – 25 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ตลาดถนนคนเดินอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก กิจกรรมในงานประกอบด้วย การจัดแสดงศิลปะพื้นบ้านอีสานใต้ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ และนครราชสีมา เช่น กันตรึมอีสานใต้ แม่น้ำผึ้งเมืองสุรินทร์ การแสดง เพลงโคราช พ่อบุญสม สังข์สุข การแสดงหมอลำ แม่คำหมื่น ปราสาททอง และการแสดงหมอลำ จากชุมชนบ้านโนนเจริญ หมอลำรสรินทร์ ลำซิ่ง และเจรียงพื้นบ้านคณะภาคภูมิ พร้อมการสาธิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของชุมชน

ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน กล่าวถึง การส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนภายหลังสถานการณ์โควิด -19 คลี่คลายลง ว่า สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดบุรีรัมย์ ได้ร่วมกับ ทุกภาคส่วน ลงพื้นที่ให้ความรู้พัฒนาหมู่บ้านท่องเที่ยว ซึ่งจังหวัดบุรีรัมย์มีหมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ที่มีจุดเด่นเฉพาะทาง 17 หมู่บ้าน มีโฮมสเตย์ที่พร้อมรับนักท่องเที่ยว จำนวน 39 แห่ง นอกจากนั้นยังได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายส่วนราชการภาคเอกชน จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว เพิ่มช่องทางการตลาดให้กับสินค้าชุมชน ได้นำกิจกรรม ประเพณีพื้นบ้าน ของดีพื้นถิ่น มาจัดแสดง และจำหน่าย มีการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชนให้เป็นที่ยอมรับและน่าสนใจ นอกจากจะมีตลาดชุมชนแล้ว ยังมีตลาดออนไลน์ในเพจ อะไรดีบุรีรัมย์ เพจ OTOP TODAY ฝากร้านขายของ และปัจจุบันจังหวัดบุรีรัมย์ร่วมกับภาคเอกชน เปิด ร้านประชารัฐ-รักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม ใกล้กับพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาล ที่ ๑ ให้เป็นศูนย์รวมจำหน่ายผลิตภัณฑ์โอทอปและของดีขึ้นชื่อของจังหวัดบุรีรัมย์ ทั้งนี้อยากฝากถึงผู้ประกอบการสินค้าชุมชน หากมีของดีพื้นถิ่น อยากให้นำมาร่วมจดทะเบียนเป็นสินค้า OTOP เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า เพิ่มโอกาสในการแข่งขัน เพิ่มโอกาสให้ผู้บริโภค นักท่องเที่ยว ได้เลือกซื้อสินค้าที่หลากหลาย สำคัญที่สุดคือ เพิ่มรายได้ให้กลุ่มผู้ผลิตในชุมชนด้วย

 

ใส่ความเห็น