ลาป่วย แล้วที่บริษัทบอกว่าถ้าไม่มีใบรับรองแพทย์ จะโดนหักเงินได้หรือไม่

ในวันที่ Hr กำลังสงสัยว่า “ใบรับรองแพทย์” เป็นข้อมูลอ่อนไหวต้องขอความยินยอม “โดยชัดแจ้ง” หรือไม่ (เรื่องนี้ไว้จะมาเขียนเล่าให้ฟัง)

แต่ก็ยังมีกรณีที่ลาโดยไม่มีใบรับรองแพทย์ แต่ก็ถูกหักค่าจ้าง

ทบทวนหลักกันอีกที กฎหมายกำหนดให้ลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง แต่ถ้าลามากเกินนายจ้างก็เลิกจ้างได้ แต่ต้องจ่ายค่าชดเชย

การลาป่วยตั้งแต่ ๓ วันทำงานกฎหมายกำหนดให้นายจ้างเรียกใบรับรองแพทย์ได้ (แต่ถ้าไม่มีก็ชี้แจงได้ โดยหาหลักฐานมาแสดงว่า “ป่วยจริง”)

โดยกฎหมายมาตรา 108 กำหนดให้ข้อบังคับนั้นอย่างน้อยต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับรายการ ดังต่อไปนี้
…5) วันลาและหลักเกณฑ์การลา

นั่นหมายความว่าเรื่อง “หลักเกณฑ์การลา” ว่าต้องยื่นกี่วัน เอกสารอะไรบ้างก็จะเขียนไว้ในข้อบังคับ

และการฝ่าฝืนข้อบังคับก็อาจถูกลงโทษได้ ซึ่งโทษที่ลงอาจเป็นการตักเตือนเป็นหนังสือ หรือหากผิดร้ายแรงก็อาจเลิกจ้างได้

การไม่มีใบรับรองแพทย์แนบใบลาไม่ถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรง อาจลงโทษแค่ออกหนังสือตักเตือน

อย่างไรก็ตาม กฎหมายมาตรา ๓๒ ในเรื่องการลาป่วยได้กำหนดว่า “ในกรณีลูกจ้างไม่อาจแสดงใบรับรองแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่ง หรือของสถานพยาบาลของทางราชการได้ ให้ลูกจ้างชี้แจงให้นายจ้างทราบ”

หมายความว่าแม้ไม่มีใบรับรองแพทย์ แต่ถ้าลูกจ้างชี้แจงได้ว่า “ป่วยจริง” เช่นมีภาพถ่ายขณะไปตรวจรักษา หรือซองยาจากแพทย์หรือเภสัชที่ปฎิบัติตามกฎหมายที่กำหนดการเขียนซองยา หรือซองยาโรงพยาบาลที่เชื่อถือได้ หรือมีภาพถ่าย ลูกจ้างก็อาจไม่มีใบรับรองแพทย์ได้ตามกฎหมาย

และแม้นายจ้างจะมีระเบียบให้แสดงใบรับรองแพทย์ แต่เมื่อกฎหมายบอกให้ชี้แจงได้ นายจ้างจะไม่รับหนังสือชี้แจงไม่ได้ เพราะขัดกับกฎหมาย

ส่วนการลงโทษด้วยการ “หักค่าจ้าง” นั้นทำไม่ได้เพราะมาตรา ๗๖ ห้ามมิให้หักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุด อีกทั้ง กฎหมายก็ไม่ได้กำหนดข้อยกเว้นให้สามารถลงโทษด้วยการหักค่าจ้างได้

ข้อสังเกต
ไม่ใช่ว่าไม่ส่งใบรับรองแพทย์แล้วจะออกหนังสือตักเตือนทุกกรณี เพราะหากการลา ๑ วัน หรือ ๒ วันกฎหมายห้ามขอใบรับรองแพทย์ หากนายจ้างกำหนดว่าแม้ลา ๑ วันก็ต้องส่งใบรับรองแพทย์ แบบนี้ข้อบังคับขัดกับกฎหมายก็ไม่มีผลใช้บังคับ จะลงโทษไม่ได้

-ท่านที่สั่งซื้อเกินห้าวันแล้วและยังไม่ได้รับหนังสือกรุณาแจ้งด้วยนะครับ

โดย : รองศาสตราจารย์ตรีเนตร สาระพงษ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

แอดมิน Pages กฎหมายแรงงาน

ถ่ายคลิปโป๊ใน Onlyfan นายจ้างเลิกจ้างได้หรือไม่

ตามที่เพจโหนกระแสได้นำเอาประเด็นที่ว่านายจ้างเลิกจ้างพนักงานสาวดีเด่น แต่แอบทำ onlyfan ได้หรือไม่

การถ่าย onlyfan คือการถ่ายคลิปโป๊ะ ซึ่งอาจเป็นการเปลือยกาย หรือการร่วมประเวณี เพื่อให้คนที่เป็นสมาชิก(จ่ายเงิน) เข้ามาดู

เรื่องนี้แอดมินเห็นว่า หากคิดในแง่ที่ว่าเป็นเรื่องส่วนตัว กระทำในที่ลับ ไม่เกี่ยวกับที่ทำงาน และไม่ได้กระทบการทำงานเพราะการปฎิบัติงานก็ยังทำได้อย่างยอดเยี่ยม

ในทางกฎหมายถือว่าการเปลือยกาย การร่วมประเวณีที่มีการถ่ายภาพหรือวีดีโออย่างเปิดเผยผิดกฎหมาย โดยภาครัฐออกกฎหมายโดยหยิบยกเอา “ศีลธรรม” หรือ Morality มาอ้างว่าไม่ชอบธรรม

เคยมีคดีที่ศาลพิพากษาว่า “ภาพหญิงสาว บางภาพเปิดเผยเต้านม อย่างโจ่งแจ้ง ส่วนที่อวัยวะเพศแม้จะมีผ้าอาภรณ์ปกปิดไว้ แต่ก็ปกปิดไว้อย่างหมิ่นเหม่ ซึ่งนอกจากจะอยู่ใน อิริยาบถที่ไม่เรียบร้อยไม่น่าดูแล้ว ยังอยู่ในอิริยาบถที่น่าเกลียดน่าบัดสีอีกด้วย กล่าวคือ มีบางภาพอยู่ใน อิริยาบถนอนก็นอนหงายถ่างขาออกอย่างกว้าง ทํานองเจตนาเพื่ออวดอวัยวะเพศอย่างเด่นชัด แสดงให้เห็นถึงเจตนายั่วยุ จึงเป็นภาพลามก” (ฎีกา ๖๓๐๑/๒๕๓๓)

ดังนั้น การถ่ายคลิปใน onlyfan ที่เห็นท่วงท่าร่วมเพศ​หรือเห็นอวัยวะเพศ จึงถือว่าเป็นภาพโป๊ ภาพลามก และขัดศีลธรรม ซึ่งอาจผิด พรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ มาตรา ๑๔(๔) และ ป.อาญามาตรา ๒๘๗ ได้

ดังนั้น ถ้านายจ้างกำหนดระเบียบห้ามถ่าย หรือห้ามกระทำที่เป็นการผิดกฎหมาย หรือขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือการกระทำที่ไม่เหมาะสม หากการถ่าย onlyfan ส่งผลต่อภาพลักษณ์ หรือชื่อเสียงของกิจการนายจ้างก็อาจเลิกจ้างได้

ในทางกลับกัน หากเป็นการกระทำส่วนตัวไม่มีการร้องเรียนหรือไม่มีใครรู้ว่าทำงานที่ใดนายจ้างก็อ้างการเสียภาพลักษณ์ไม่ได้ นายจ้างก็ไม่น่าจะเลิกจ้างได้

ข้อสังเกต เรื่องนี้เป็นเพียงความเห็นที่แอดมินเขียนขึ้นโดยอ้างอิงหลักการทางกฎหมายประกอบ

-ท่านที่สั่งหนังสือเกิน ๕ วันแล้วและยังไม่ได้รับ กรุณาแจ้งด้วยครับ

โดย : รองศาสตราจารย์ตรีเนตร สาระพงษ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

แอดมิน Pages กฎหมายแรงงาน

ใส่ความเห็น