ให้มาทำงานก่อนเวลาทำงานปกติ ไม่จ่ายโอที แต่ให้เลิกงานก่อน 1 ชั่วโมง

นายจ้างประกาศเวลาทำงานปกติ 8:00 ถึง 17.00 น. ปรากฎหว่านายจ้างให้ทำงาน 7:00 ถึง 8.00 น. แล้วนายจ้างให้เลิกงานเร็ว 1 ชม. เป็นการทดแทน แทนแบบนี้ทำได้หรือไม่

เบื้องต้นต้องเข้าใจว่ากฎหมายคุ้มครองแรงงาน(มาตรา 23) กำหนดให้นายจ้าง “ประกาศ” เวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของการทำงานวันหนึ่งไม่เกิน 8 ชั่วโมง เมื่อรวมกันแล้วสัปดาห์หนึ่งไม่เกิน 48 ชั่วโมง เมื่อประกาศแล้วนายจ้างจะต้องยึดถือตามระยะเวลาที่ประกาศ

หากไม่ยึดถือระยะเวลาเดิมก็ต้องประกาศเวลาทำงานปกติใหม่

จากคำถามนี้นายจ้างยังคงยึดถือเอาระยะเวลาทำงานปกติเป็นเวลาเดิม คือ 8:00 ถึง 17.00 น. หากมีการทำงานในช่วงเวลาอื่นซึ่งไม่ใช่ 8:00 ถึง 17.00 น. ก็จะเป็นการทำงานล่วงเวลา ดังนั้นการมาทำงาน 7.00-8.00 น. จึงเป็นการทำงานล่วงเวลา

เมื่อมีการทำงานล่วงเวลา กฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายค่าตอบแทนช่วงเวลาดังกล่าว 1.5 เท่า หรือหากล่วงเวลาในวันหยุดต้องจ่าย 3 เท่า

ไม่มีกฎหมายกำหนดให้สลับเวลาทำงาน หรือให้มาทำงานก่อนเวลาทำงานปกติ 1 ชั่วโมง แล้วให้เลิกงานเร็วขึ้นมา 1 ชั่วโมงทดแทนได้ กรณีนี้นายจ้างจึงต้องจ่ายค่าล่วงเวลาแก่ลูกจ้างรายนี้ พร้อมดอกเบี้ยที่ค้างจ่าย (หากจงใจต้องจ่ายเงินเพิ่มร้อยละ ๑๕ ทุกๆ ๗ วัน)

ข้อสังเกต
บริษัทใดมีกรณีแบบนี้ฝ่ายบุคคลต้องรีบแก้ไข เพราะหากสะสมนานไป ลูกจ้างถูกเลิกจ้างแล้วไปร้องต่อสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จะถูกเรียกเงินย้อนหลังพร้อมดอกเบี้ยหรือเงินเพิ่มได้ จะเสียเวลา เสียทั้งเงิน และฝ่ายบุคคลเองอาจถูกกล่าวหาว่าทำงานผิดพลาดซึ่งโทษก็จะย้อนกลับมาที่ฝ่ายบุคคลได้

แต่หากแจ้งนายจ้างแล้ว นายจ้างไม่เห็นด้วย ก็ควรเก็บหลักฐานเอาไว้จะเป็นทางไลน์ หรือทางอีเมลล์ หรือเป็นหนังสือก็ได้

โดย : รองศาสตราจารย์ตรีเนตร สาระพงษ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

แอดมิน Pages กฎหมายแรงงาน

พฤติการณ์ที่ไม่น่าเชื่อว่าถูกบังคับให้เขียนใบลาออก

ย้ำกันอีกทีว่า “ลาออก” ไม่ได้ค่าชดเชย จะได้ค่าชดเชยต้องถูก “เลิกจ้าง”

หลายคนเขียนใบลาออกไปโดยไม่รู้ข้อกฎหมาย มาอ้างทีหลังว่าไม่ได้เจตนาลาออก

คดีนี้เป็นตัวอย่างที่ดีที่ศาลท่านจะพิจารณาว่าไม่ได้ลาออก หรือถูกหลอกให้เขียนใบลาออกนั้นพิจารณาจากอะไร

แรกเริ่มเดิมทีคดีนี้ลูกจ้างทำงานเป็นผู้จัดการฯ ของบริษัทฯ นายจ้าง ต่อมานายจ้างแจ้งว่าไม่ประสงค์ให้ลูกจ้างทำงานต่อไป จึงได้ลาออก

แต่ลูกจ้างอ้างว่าที่ลาออกนั้นเพราะถูกกดดันไม่สามารถขัดขืน หรือหลีกเลี่ยงได้ และแม้นายจ้างได้มอบเงิน ๕ แสนกว่าบาทให้ก็ตาม

คดีนี้ศาลเห็นว่า การที่ฝ่ายบุคคลได้เชิญลูกจ้างมาพบเพื่อเจรจาให้ลาออก เพราะพบว่าลูกจ้างรายนี้ป่วยเป็นเนื้องอกในสมอง มีการทำงานผิดพลาด โดยมีการเตือนด้วยวาจาหลายครั้งและมีการเตือนเป็นหนังสือ

โดยฝ่ายบุคคลอยากให้ลาออกเพราะไม่อยากให้เสียประวัติ และได้รักษาตัวเต็มที่ ฝ่ายลูกจ้างก็ขอเวลาคิด

สำหรับพฤติการณ์ที่ศาลไม่เชื่อว่าถูกบีบบังคับให้ลาออก

เพราะศาลมองว่าตัวลูกจ้างในคดีนี้จบปริญญาโทสาขาการบัญชีจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำงานด้านบัญชีมาตลอด แสดงว่าลูกจ้างมีการศึกษา และวุฒิภาวะที่จะตัดสินใจได้ด้วยตนเองในการเจรจา และการที่ลูกจ้างแสดงเจตนารับช่วยเหลือ ๕ แสนกว่าบาท

จึงเป็นความตกลงสิ้นสุดสัญญาจ้างด้วยความสมัครใจลาออก มิใช่ถูกเลิกจ้าง

ที่มา: คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๒๔๘/๒๕๖๐

โดย : รองศาสตราจารย์ตรีเนตร สาระพงษ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

แอดมิน Pages กฎหมายแรงงาน

ใส่ความเห็น