สธ.เชื่อมั่น! เดินหน้าเปิดประเทศปลอดภัย ฟื้นฟูเศรษฐกิจปกติ พร้อมสร้างความมั่นคงทางสาธารณสุข

กระทรวงสาธารณสุข เดินหน้าเปิดประเทศด้วยความปลอดภัย กระตุ้นเศรษฐกิจ ฟื้นฟูความเป็นอยู่ของประชาชนให้ใกล้เคียงกับภาวะปกติ พร้อมสร้างความมั่นคงทางสาธารณสุข เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนในประเทศและผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ

เมื่อวันนี้ 18 พฤศจิกายน 2564 เวลา 11.30 น.   ที่ศูนย์ประชุมโรงแรมเทพนคร อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์พิเชษฐ พืชขุนทด สสจ.บุรีรัมย์  ร่วมเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเตรียมความพร้อมการเปิดประเทศ และรองรับการระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อให้ทุกภาคส่วน ร่วมระดมความคิดเห็น ข้อเสนอแนะและแลกเปลี่ยนเรียนรู้นำไปพัฒนาแผนปฏิบัติการฯ ของแต่ละจังหวัดให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในพื้นที่ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม อาทิ ผู้บริหารและคณะทำงาน ศปก.ศบค. ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และหน่วยงานระดับพื้นที่ 20 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตลอดจนผู้แทนภาคธุรกิจเอกชน และคณะวิทยากร รูปแบบการประชุมประกอบด้วย การบรรยายพิเศษ การอภิปรายในระดับนโยบาย และประสบการณ์ของผู้ปฏิบัติงานระดับพื้นที่ และการประชุมกลุ่มระดมความคิดเห็น ในรูปแบบ Onsite จำนวน       200 คน และออนไลน์จำนวน 400 คน

       นายอนุทิน กล่าวว่า โรคโควิด-19 มีการแพร่ระบาดมานานกว่า 2 ปี สถานการณ์ในประเทศไทยขณะนี้   มีแนวโน้มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่คงที่ต่อเนื่อง ผู้ป่วยอาการรุนแรงและผู้เสียชีวิตลดลงซึ่งเป็นผลจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งนี้ นโยบายของรัฐบาล ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี ในการเปิดประเทศ   เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ถือเป็นนโยบายแห่งชาติเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ฟื้นฟูความเป็นอยู่ของประชาชนให้กลับคืนมาใกล้เคียงกับภาวะปกติอย่างสมดุลกับความมั่นคงทางสาธารณสุข และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนในประเทศ รวมถึงผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานและภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ เอกชนและภาคประชาชน มุ่งตามกลยุทธ์ด้านสาธารณสุข 5 ข้อ คือ 1.การเปิดประเทศอย่างปลอดภัย 2.การเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคในกลุ่มเสี่ยง/ สถานที่เสี่ยง/กลุ่มเปราะบาง 3.การเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข 4.การพัฒนาระบบข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารความเสี่ยง  5.การสร้างกลไกการบริหารจัดการแบบบรูณาการ

       นายอนุทิน กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขได้วางแผนรองรับนโยบายแห่งชาติ ภายใต้มาตรการ 5 ด้าน ได้แก่ ด้านการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรค ก่อนเดินทาง ผู้เดินทางต้องเตรียมหลักฐานการฉีดวัคซีน/ประกันสุขภาพ วงเงินไม่น้อยกว่า 50,000 USD/ ผลตรวจหาเชื้อโควิด 19 ไม่เกิน 72 ชม. ก่อนเดินทาง/ หลักฐานการจองที่พัก/ บันทึกข้อมูลใน Thailand Pass และเมื่อมาถึงประเทศไทย ต้องตรวจหาเชื้อครั้งที่ 1 ด้วยวิธี RT-PCR และครั้งที่ 2 ด้วยชุดตรวจ ATK ด้วยตนเองเมื่อมีอาการ หรือในวันที่ 6-7, ด้านการตรวจทางห้องปฏิบัติการ สำหรับตรวจหาเชื้อโควิด 19 ในผู้เดินทางเข้ามาในประเทศ ด้วยวิธีที่แม่นยำ หากพบการติดเชื้อ ต้องเข้าสู่กระบวนการรักษาทันที, ด้านมาตรการ COVID Free Setting สถานประกอบการต้องให้บริการบนพื้นฐานความปลอดภัย ตามแนวทางที่วางไว้, ด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่สอดคล้องกับสถานการณ์ ปรับรูปแบบการรักษาเข้าสู่การแพทย์วิถีใหม่ ป้องกันการติดเชื้อในสถานพยาบาล และด้านการสำรองเวชภัณฑ์และการส่งกำลังบำรุง สามารถจัดหายาและเวชภัณฑ์เพิ่มเติมต่อเนื่องตลอดเวลา ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ ควบคู่กับความมั่นคงด้านสาธารณสุข สามารถ “เปิดบ้าน เปิดเมือง      เปิดใจ เปิดประเทศด้วยความปลอดภัย”

ใส่ความเห็น