นางรำหมื่น!!กว่าชีวิต แถลงข่าวจัดงาน“ ธ สถิตในใจประชา รอยยาตรามหาพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จังหวัดบุรีรัมย์ 2561” 7 กันยายนนี้


งาน   สถิตในใจประชา รอยยาตรามหาพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จังหวัดบุรีรัมย์ 2561

 รวมดวงใจชาวบุรีรัมย์แสดงออกถึงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ๒๔๒ ปี จังหวัดบุรีรัมย์

 จังหวัดบุรีรัมย์ โดย นายอนุสรณ์  แก้วกังวาล  ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์  ขอเชิญชวน พี่น้องประชาชนร่วมงาน สถิตในใจประชา รอยยาตรามหาพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จังหวัดบุรีรัมย์ 2561     วันศุกร์ที่ 7 กันยายนพ.ศ. 2561 เวลา 15.00น. เป็นต้นไป

เมื่อวันที่ 25สิงหาคม พ.ศ. 2561 ในงานแถลงข่าวการจัดงาน สถิตในใจประชา รอยยาตรามหาพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จังหวัดบุรีรัมย์ 2561นายอนุสรณ์  แก้วกังวาล ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ได้กล่าวถึงประวัติศาสตร์ ของจังหวัดบุรีรัมย์ ว่า ในช่วงปีพ.ศ. ๒๓๑๙    พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  รัชกาลที่ 1 เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งเป็น เจ้าพระยาจักรี  ได้ทรงนำกองทัพมาจัดการให้เกิดความสงบเรียบร้อยในภูมิภาคมณฑลนครราชสีมาซึ่งด้วยพระมหากรุณาธิคุณ และพระปรีชาสามารถ  เมื่อเสร็จสิ้นศึกสงครามแล้วพระองค์ท่านได้เกลี้ยกล่อมให้ชาวเขมรป่าดงในแถบเมืองสุรินทร์สังขะขุขันธ์และเมืองอื่น ๆ ในแถบนี้ให้ขึ้นต่อกรุงธนบุรี  โดยในระหว่างการ    พักทัพอยู่บริเวณบ้านหัวช้างได้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเมืองขึ้นที่บริเวณเมืองโบราณที่มีต้นแปะชุกชุม เมืองที่ตั้งขึ้นเมื่อเริ่มแรกนั้นจึงได้ชื่อว่า    “เมืองแปะ” จวบจนใน รัชสมัยแห่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5  ชื่อเมืองแปะ      จึงเปลี่ยนเป็น จังหวัดบุรีรัมย์ จนถึง ทุกวันนี้

จากรอยยาตราแรกแห่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1    เมื่อครั้งปี พ.ศ. 2319  จวบจนปัจจุบันปีพ.ศ.2561 นับเวลาได้ 242 ปี ล่วงมาแล้ว ชาวจังหวัดบุรีรัมย์ยังคงสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแห่งพระองค์ท่าน ตลอดจนพระมหากรุณาธิคุณใน   สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 ไม่เสื่อมคลาย  จึงได้กำหนดให้มีการจัดกิจกรรม เพื่อเป็นการรวมดวงใจชาวบุรีรัมย์แสดงออกถึงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ  ภายใต้ชื่องาน

สถิตในใจประชา รอยยาตรามหาพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ”  โดยจะจัดขึ้นใน   วันศุกร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ.2561 ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันสวรรคตแห่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 และนับเป็นครั้งแรกของการจัดงานเทิดพระเกียรติอย่างยิ่งใหญ่ที่สุดบนผืนแผ่นดินบุรีรัมย์ พบความงดงามยิ่งใหญ่ของริ้วขบวนทัพช้าง ทัพม้า เครื่องสูง ทหารเอก พลทหาร ในขบวนสดุดีจอมราชัน   นำขบวนโดยพันเอก วันชนะ สวัสดี หรือผู้พัน เบิร์ด ผู้รับบทสมเด็จพระนเรศวรฯ ในหนังไทยฟอร์มยักษ์ ตำนาน สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ขบวนชาติพันธุ์ ไทย-กูย ไทย-ลาว ไทย-เขมร และไทย-นางรอง รวมถึงสาวงาม เหล่านางรำ  ทั้งหมดกว่า 10,242 ชีวิต ที่พร้อมใจกันร่วมขบวนจำลองการเสด็จพระราชดำเนินมา สู่เมืองแปะ หรือบุรีรัมย์แห่งนี้

 

ด้วยตัวเลข 10,242 ที่มีความหมาย ประกอบไปด้วย

  • เลขหนึ่ง หมายถึง การรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณแห่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1
  • เลขสิบ คือ การรวมดวงใจชาวบุรีรัมย์เฉลิมพระเกียรติแห่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10
  • และตัวเลขสองร้อยสี่สิบสอง มีความหมายถึงการเฉลิมฉลอง ๒๔๒ปีแห่งการก่อตั้งเมืองแปะ บุรีรัมย์

ทั้งนี้  พิธีการจะเริ่ม ในช่วงเวลาประมาณ 15.00 น. ณ บริเวณเบื้องหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

  • พิธีวางพวงมาลาและประกอบพิธีบวงสรวงถวายเครื่องสักการะ
  • การรำเทิดพระเกียรติ ชุด “น้อมมนัสนบสำนึกพระบารมี”
  • พิธี “ประกาศปักหลักเมือง”
  • การแสดงดนตรี กวีศิลป์ จากศิลปินแห่งชาติ ถึง 4 ท่าน  ได้แก่     ครูเนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์ อ.ธนิสร์  ศรีกลิ่นดี  ศ.เกียรติคุณปรีชา  เถาทอง และแม่ฉวีวรรณ  ดำเนิน

  • การแสดงลำนำ ร้อยเรื่องราวเมืองแปะ 242 ปี สู่เมืองบุรีรัมย์ เลิศล้ำเมืองกีฬา Light  & Sound  360 องศา “เมืองปราสาทหิน ถิ่นภูเขาไฟ ผ้าไหมสวย รวยวัฒนธรรม เลิศล้ำเมืองกีฬา” บริเวณเวทีกลาง หน้าศาลากลางหลังเดิม
  • การแสดง Legend of Buriram โดยศิลปินขวัญใจมวลชน สมจิตร จงจอหอ  ฟลุ๊ค ไอน้ำ  จ่าหลอย เฮนรี่ และดุ่ย เชียงรัมย์ ร่วมด้วยวงซิมโฟนีออเคสตร้า จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์
  • ตลาด “วิถีชุมชน” คนบุรีรัมย์ ณ ลานวัฒนธรรม
  • ตลาดอารยะ 4ชาติพันธุ์ ประกอบด้วย การสาธิต/แสดง จำหน่ายผลิตภัณฑ์
  • กิจกรรม 5 F : Food Fashion Film Fighting และ Festival จากภูมิปัญญาพื้นบ้านที่เป็น อัตลักษณ์ของชุมชนท้องถิ่นบุรีรัมย์

ใส่ความเห็น