ช่วงนี้มีนัดชุมนุมเรียกเงินโบนัส นายจ้างนำมาเป็นเหตุเลิกจ้างได้

การรวมตัวกันเรียกร้องกฎหมายให้ทำได้ แต่ถ้าไม่เป็นไปตามกฎหมายก็อาจส่งผลให้นายจ้างนำมาเป็นเหตุเลิกจ้างได้

จึงควรศึกษาข้อกฎหมายให้ดี ซึ่งจะเล่าข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับการชุมนุมเรียกร้องโบนัส ให้ฟัง

ปกติไกล้สิ้นปีมักมีข้อพิพาทจากการเรียกร้องเงินโบนัส เหมือนกับที่เป็นข่าวกรณีพนักงานของโรงงานผลิตแบตเตอร์รี่ ในนิคมอุตสาหกรรมบางปู ที่ชุมนุม เพื่อเรียกร้องการปรับขึ้นค่าแรงประจำปี และ เงินโบนัสประจำปี

การนัดชุมนุมมีทั้งที่กฎหมายให้ทำได้ กับการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย ซึ่งกรณีที่เป็นข่าวไม่แน่ใจว่าข้อเรียกร้องที่ยื่นเป็นการยื่นตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์หรือไม่

แต่เดาว่าไม่… เพราะถ้าเป็นการยื่นตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ จะต้องมีการนัดหยุดงานในเวลาทำงานปกติ แต่ในข่าวทราบว่าเลิกงานหรือออกกะแล้วจึงจะนัดหยุดงาน ซึ่งการนัดชุมนุมหลังเลิกงานก็ดีตรงที่นายจ้างจะอ้างว่าละทิ้งหน้าที่ไม่ได้

อีกทั้ง ไม่ใช่การนัดหยุดงานตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์เพราะไม่ใช่การนัดหยุดงานอันเนื่องมากจากข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ จึงไม่ฝ่าฝืนกฎหมายแรงงานสัมพันธ์(มาตรา ๓๖)

การนัดชุมนุมที่เกิดจากข้อพิพาทที่ผ่านการยื่นข้อเรียกร้อง การเจรจาต่อรอง การไกล่เกลี่ย ที่ถูกกฎหมาย เรียกว่า “การนัดหยุดงาน” (ตามมาตรา ๑๓ ถึงมาตรา ๓๑)รวมถึงขั้นตอนการแจ้งให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานทราบก่อนนัดหยุดงานอย่างน้อย ๒๔ ชั่วโมง

การนัดหยุดงานตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ คือ “การไม่เข้าไปทำงาน” เท่านั้น ผลจากการนัดหยุดงานทำให้นายจ้าง “ไม่มีคนทำงานให้” อันเป็นการขาดแรงงานทำให้ไม่สามารถผลิตได้

แต่ “การนัดชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” มีอะไรบ้าง

-การปิดถนน หรือการชุมนุมโดยละเมิดสิทธิของผู้อื่น ย่อมมิใช่การนัดหยุดงานหรือเป็นส่วนหนึ่งของการนัดหยุดงานแต่อย่างใด ผู้กระทำจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 99 (ฎีกาที่ 2790/2525)

-การนัดชุมนุมที่ขึ้นเวทีไฮปาร์คด่าทอนายจ้าง หรือเดินขบวนประท้วง หรือปิดประตูเข้าออกบริษัท หรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้าง เขียนป้ายที่เขียนข้อความไม่สุภาพ ใช้เครื่องเสียงปราศัยปลุกระดม ขู่ว่าจะตัดน้ำตัดไฟ ตบมือเสียงดังแสดงความพอใจต่อคำปราศัย ชวนให้ผู้อื่นออกมาประท้วง(ฎีกาที่ 9204-9207/2559)

-ปิดกันรถสินค้านาจ้าง ไม่สามารถเข้าออกบริษัทได้ ถือว่าเป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย(ฎีกา 3597-3598/2525)

-ลูกจ้างมีการใช้กำลังฝ่าฝืนดึงดันเข้าไปในพื้นที่ชุมนุมโดยไม่ฟังการห้ามปรามของ รปภ. ของนายจ้าง มีการนำเต็นท์ขนาดใหญ่ เครื่องขยายเสียงและสุขาเคลื่อนที่เข้าไปติดตั้ง นำรถยนต์และรถจักรยานยนต์เข้าไปจอด ใช้เครื่องขยายเสียงปราศรัยส่งเสียงรบกวนการทำงานของพนักงานคนอื่นต่อเนื่องเป็นเวลาหลายวัน

เหล่านี้เป็นการชุมนุมโดยไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 99 (คำพิพากษาฎีกาที่ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8986 – 8997/2561)

และต้องระวังไม่ปฎิบัติตามคดีที่ยกขึ้นมาข้างต้น เพราะนายจ้างอาจ “ลงโทษ” ได้ เพราะถือเป็นการฝ่าฝืน “วินัยในการทำงาน” ได้

ทางที่ดีควรใช้กระบวนการทางด้านแรงงานสัมพันธ์ เจรจาต่อรองกันด้วยข้อมูลบนพื้นฐานของเหตุผล และต้องไม่ลืมปฎิบัติตามกฎหมาย

โดย : รองศาสตราจารย์ตรีเนตร สาระพงษ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

แอดมิน Pages กฎหมายแรงงาน

ใส่ความเห็น