จังหวัดบุรีรัมย์ สัมมนาสำรวจออกแบบทางหลวง 4ช่องจราจรถนนสายตาพระยา-โนนดินแดง

วันที่ 9 มิถุนาย น 2565 เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุมหนุ่มรุ้งชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดบุรีรัมย์ นายธัชกร หัตถาธยากูล ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นประธาน ในการสัมมนาสำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจร บนทางหลวงหมายเลข 3486 ช่วงบ้านกุดเตย-บ้านใหม่ไทยถาวร และบนทางหลวงหมายเลข 348 อำเภอตาพระยา อำเภอโนนดินแดง โดยมี หัวหน้าส่วนราชการและภาคเอกชน ร่วมรับฟังการนำเสนอข้อมูลรายละเอียดโครงการฯ แผนการศึกษาด้านต่างๆ  และขั้นตอนการดำเนินงาน พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการศึกษาโครงการสำหรับนำไปประกอบการศึกษาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3486 ช่วงบ้านกุดเตย-บ้านใหม่ไทยถาวร และทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 348 ช่วงอำเภอตาพระยา อำเภอโนนดินแดง เป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อระหว่างภาคตะวันออกกับภาคอีสานตอนใต้ สภาพปัจจุบันเป็นทางหลวงขนาด 2 ช่องจราจร มีปริมาณจราจรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เส้นทางมีความคดเคี้ยว ลาดชัน เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง โดยเฉพาะช่วงที่ผ่านพื้นที่มรดกโลกบริเวณเขาช่องตะโก ทำให้ผู้ใช้ทางไม่ได้รับความสะดวกและปลอดภัยในการเดินทาง จากนั้น คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบให้กระทรวงคมนาคมเข้าทำการศึกษาสำรวจเก็บข้อมูลในเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 348 เพื่อประกอบการพิจารณาทางเลือกในการขยายทางหลวงแผ่นดิน เชื่อมโยงอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว กับอำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ กรมทางหลวงจึงได้ว่าจ้างบริษัทเอกชนให้ดำเนินการสำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจร บนทางหลวงหมายเลข 3486 ช่วงบ้านกุดเตย-บ้านใหม่ไทยถาวร และบนทางหลวงหมายเลข 348 อำเภอตาพระยา อำเภอโนนดินแดง ระยะทางประมาณ 48 กิโลเมตร เพื่อช่วยในการเดินทาง การท่องเที่ยว และการขนส่งสินค้าให้มีความสะดวกรวดเร็วและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น โดยมีการกำหนดระยะเวลาในการศึกษาโครงการทั้งสิ้น 15 เดือน

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 ลงมติเห็นชอบให้กระทรวงคมนาคมเข้าทำการศึกษาสำรวจเก็บข้อมูลในเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 348 เพื่อประกอบการพิจารณาทางเลือกในการขยายทางหลวงแผ่นดินเชื่อมโยงอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว กับอำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ หากดำเนินการ ศึกษาเสร็จสิ้นแล้วให้เร่งแจ้งผลการดำเนินงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในฐานะหน่วยงานหลัก (Focal point) ที่รับผิดชอบด้านมรดกโลกของประเทศไทยเพื่อดำเนินการแจ้งศูนย์มรดกโลกต่อไป

กรมทางหลวงเล็งเห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่โครงการ ตลอดจนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อันจะเอื้อประโยชน์สูงสุดต่อการสำรวจและออกแบบรายละเอียดโครงการ จึงได้กำหนดให้มีการเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนตลอดระยะเวลาการศึกษา โดยในครั้งนี้เป็นการประชุมปฐมนิเทศโครงการ (สัมมนาครั้งที่ 1) มีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ ได้ทราบถึงข้อมูลเบื้องต้นของโครงการ โดยบริษัทที่ปรึกษาจะรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในประเด็นต่าง ๆ จากกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปใช้ประกอบการศึกษาโครงการได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ใส่ความเห็น