สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์

วันนี้ (26 เม.ย.60) เวลา 09 นาฬิกา 38 นาที สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังอ่างเก็บน้ำหนองกุดใหญ่ ตำบลหนองเต็ง อำเภอกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์ ทรงเปิดแพรคลุมป้าย “ตามรอยพระบาทรัชกาลที่ 9 ธ สถิตในใจไทยประชา รอยยาตรายังจารึก” และทอดพระเนตรนิทรรศการการบริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำหนองกุดใหญ่ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาทรงเยี่ยมราษฎรที่อำเภอกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2522 ทรงทราบความทุกข์ยากของราษฎรในการดำรงชีวิต โดยเฉพาะปัญหาเรื่องน้ำ ทั้งน้ำแล้งและน้ำหลาก ที่มีมานานกว่า 50 ปี จึงได้พระราชทานแนวทางในการพัฒนาพื้นที่ และมีพระราชดำริให้กรมชลประทาน ดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำหนองกุดใหญ่ขึ้นในปี 2523 แล้วเสร็จเมื่อปี 2524 ต่อมาอ่างเก็บน้ำฯ ประสบปัญหาตื้นเขิน และไม่มีระบบกระจายน้ำสู่พื้นที่การเกษตร ทำให้เกษตรกรรุกเข้ามาในพื้นที่อ่างเก็บน้ำฯ ที่มีพื้นที่ประมาณ 1 พันไร่ จนเหลือพื้นที่แค่ 200 ไร่ ส่งผลให้ราษฎรประสบปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งต่อเนื่อง

ในปี 2557 สภาเกษตรกรจังหวัดบุรีรัมย์ ชุมชนบ้านกุดใหญ่ และเทศบาลตำบลหนองเต็ง , มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กองทัพบก และ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. ได้ร่วมกันพัฒนาอ่างเก็บน้ำหนองกุดใหญ่ กันแนวเขตและรักษาพื้นที่หนองน้ำสาธารณประโยชน์ เพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำและการระบายน้ำ รวมทั้งขุดคลองส่งน้ำ เชื่อมอ่างเก็บน้ำกับหนองน้ำในพื้นที่ เพื่อเป็นทางผันน้ำและระบายน้ำ และขุดคลองสำหรับกระจายน้ำสู่พื้นที่การเกษตร 2 สาย เป็นระยะทาง 8 กิโลเมตร สามารถกันแนวเขตและรักษาพื้นที่หนองน้ำสาธารณประโยชน์ จากเดิมที่เหลืออยู่เพียง 200 ไร่ ให้เพิ่มขึ้นเป็น 777 ไร่ และสามารถเพิ่มปริมาณกักเก็บน้ำได้ถึง 1 ล้าน 3 แสนลูกบาศก์เมตร
จากนั้น ทรงปล่อยพันธุ์ปลานิลจำนวน 63 ตัวซึ่งกรมประมงจัดถวายลงในอ่างเก็บน้ำหนองกุดใหญ่ เพื่อแพร่พันธุ์และเป็นแหล่งอาหารโปรตีนต่อไป

ในโอกาสนี้ เกษตรกร หมู่ที่ 4 ตำบลหนองเต็ง ได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายกระบือเพศเมียจำนวน 2 ตัว อายุ 15 เดือน และ 18 เดือน เพื่อพระราชทานตามพระราชอัธยาศัย

โอกาสนี้ ทรงเปิดแพรคลุมป้ายสถานีโทรมาตรตรวจวัดสภาพอากาศอัตโนมัติ ซึ่งเป็นสถานีโทรมาตรรุ่นที่ 4 ที่ สสนก. ได้นำเทคโนโลยีโทรมาตรจากประเทศญี่ปุ่นมาพัฒนาและปรับใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทย โดยนำมาติดตั้งที่ริมอ่างเก็บน้ำหนองกุดใหญ่ เป็นสถานีแรกในประเทศไทย เพื่อสนองแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงเห็นความสำคัญของระบบตรวจวัดสภาพอากาศอัตโนมัติว่ามีประโยชน์อย่างมากในการบริหารจัดการน้ำและการป้องกันภัยพิบัติของประเทศ

จากนั้น ทอดพระเนตรแปลงตัวอย่างเกษตรผสมผสานตามแนวทฤษฎีใหม่ ซึ่งมีเกษตรกรเข้าร่วมเป็นสมาชิก 10 คนในการปลูกและดูแลแปลงเกษตรฯ พื้นที่กว่า 2 ไร่ เช่น นางทองใบ เฉลิมพล ปลูกข้าวโพดหวาน และข่าเหลือง ซึ่งจะทำให้มีรายได้ประมาณ 4 พัน 500 บาทต่อปี ลดรายจ่ายในครัวเรือนได้ประมาณ 2 พัน 400 บาทต่อปี โดยได้นำกระบวนการเรียนรู้การบริหารจัดการน้ำและวางแผนการเพาะปลูกอย่างเหมาะสมมาใช้ และได้ขยายผลไปสู่แปลงเกษตรของตนเองและชุมชน

เวลา 13 นาฬิกา 2 นาที เสด็จพระราชดำเนินไปยังพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ บ้านลิ่มทอง ตำบลหนองโบสถ์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์

ในการนี้ ทอดพระเนตรนิทรรศการการจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ซึ่งบ้านลิ่มทองแห่งนี้เป็นพื้นที่ประสบปัญหาทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง อยู่ห่างไกลแหล่งน้ำธรรมชาติและระบบชลประทาน ในปีพุทธศักราช 2548 ชุมชนบ้านลิ่มทองจึงรวมกลุ่มสำรวจพื้นที่หาแนวทางแก้ไขปัญหา โดยมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ สสนก. ได้ช่วยแนะแนวทางและนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาประยุกต์ใช้ ได้แก่ระบบสระพวง ที่เกษตรกรในชุมชนร่วมกันสละที่ดินของตนเอง ขุดคลองดักน้ำหลากและขุดสระน้ำแก้มลิง เป็นพื้นที่กักเก็บน้ำ เชื่อมต่อกับสระน้ำประจำไร่นา ผ่านคลองซอยที่ขุดเพิ่ม ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมและขาดแคลนน้ำในการทำการเกษตร รวมทั้งปรับปรุงโครงสร้างถนน ที่แต่เดิมมีน้ำหลากเป็นประจำ ให้เป็นถนนน้ำเดิน เพื่อรองรับน้ำฝนและส่งน้ำที่หลากท่วมไปยังสระน้ำแก้มลิงที่อยู่ปลายทาง ช่วยลดปัญหาน้ำท่วมเข้าบ้านเรือน และยังสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้งไปพร้อมกัน ซึ่งมีปริมาณน้ำกักเก็บเพิ่มขึ้นกว่า 1 ล้าน 5 แสนลูกบาศก์เมตร พื้นที่เกษตรได้รับประโยชน์กว่า 196,000 ไร่ รายได้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว ที่สำคัญคือแรงงานคืนถิ่น ครอบครัวได้อยู่ด้วยกันพร้อมหน้า จากเดิมในปี 2550 มีเพียง 15 ครัวเรือน ในปี 2559 มีเพิ่มขึ้นเป็น 300 ครัวเรือน ความสำเร็จดังกล่าวยังได้ขยายผลไปสู่ 6 ตำบลของอำเภอนางรอง ได้แก่ ตำบลหนองทองลิ่ม ตำบลทุ่งแสงทอง ตำบลชุมแสง ตำบลลำไทรโยง ตำบลนางรอง และตำบลบ้านสิงห์

โอกาสนี้ ทอดพระเนตรแปลงทฤษฎีใหม่ของชาวบ้านในพื้นที่ อาทิ นางทองม้วน รังพงษ์ ที่เริ่มทำเกษตรทฤษฎีใหม่ในปี 2555 แบ่งพื้นที่ 8 ไร่ เป็นพื้นที่ทำนา 4 ไร่ ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผักหมุนเวียน 4 ไร่ มีรายได้เฉลี่ยจากการทำนา ปีละ 1 หมื่น 6 พันบาท และรายได้จากการปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผักหมุนเวียน 4 หมื่นบาทต่อปี นับเป็นหนึ่งในตัวอย่างการดำเนินงานทฤษฎีใหม่ที่ใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีการบริหารจัดการน้ำและวางแผนการเพาะปลูกอย่างเหมาะสม

จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังหนองทองลิ่ม “สระดักน้ำหลาก” ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสาธารณะของบ้านลิ่มทอง เป็นส่วนหนึ่งของระบบการจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ซึ่งชุมชนบ้านลิ่มทองได้พัฒนาระบบกระจายน้ำ จนนำน้ำไปใช้ทำเกษตรในพื้นที่ 100 ไร่ ประกอบด้วย การทำนาในฤดูฝน (นาปี) และใช้ทำการเกษตรผสมผสานในหน้าแล้ง ซึ่งทำให้มีน้ำใช้เพียงพอต่อความต้องการในหน้าแล้ง

ในการนี้ ทรงปล่อยปลานิลและปลาตะเพียน ลงในหนองทองลิ่มเพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำ

ต่อจากนั้น ทอดพระเนตรการทำงานของรถแทรกเตอร์ ของ บริษัทยันมาร์ ประเทศไทย จำกัด ที่ได้พระราชทานแก่ชุมชนบ้านลิ่มทองไว้ใช้เป็นสาธารณประโยชน์ โดยเป็นรถรุ่นพิเศษ มีความเหมาะสมกับพื้นที่ทำการเกษตรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความคล่องตัว ประหยัดน้ำมัน และเครื่องยนต์ทนความร้อนได้ดี

จากนั้น ทอดพระเนตรผลิตภัณฑ์ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านหนองทองลิ่ม อาทิ ข้าวเกรียบฟักทอง ทองม้วน หมูกระจก กล้วยกรอบไร้น้ำตาล ข้าวกล้องหอมมะลิ และข้าวกล้องฮาง และผลิตภัณฑ์ของศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ธกส. จังหวัดบุรีรัมย์ อาทิ ข้าวเม่า , ทองม้วนไรซ์เบอรี่ ,น้ำตาลอ้อย และพืชผลทางการเกษตร

————–
ต่อจากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรป่าเฉลิมพระเกียรติ 70 พรรษา โครงการสร้างป่าสร้างงาน หรือ สวนป่าชุมชน บ้านหนองทองลิ่ม ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่สาธารณะที่เสื่อมโทรม เนื่องจากชาวบ้านบุกรุกแพ้วถางป่า เพื่อนำไม้ไปใช้สอยและใช้ที่ดินที่ทำกิน หลังจากสถานการณ์การเมืองปี 2519 ต่อมาปี 2542 เกิดฝนแล้งอย่างรุนแรง พืชผลเสียหาย ชาวบ้านไม่มีรายได้ เกิดความขาดแคลนทั้งหมู่บ้าน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. สาขานางรอง และสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน ร่วมกันทำโครงการสร้างป่าสร้างงาน ส่งเสริมและสนับสนุนงบประมาณให้ชาวบ้านปลูกและดูแลป่าแห่งนี้ เน้นการทำงานแบบมีส่วนร่วม โดย 1 คน จะได้รับเงิน 160 บาท ซึ่ง 100 บาท นำไปใช้จ่ายหนี้สิน และอีก 60 บาท เก็บไว้ใช้ในครัวเรือน

ปัจจุบัน ป่าชุมชนบ้านหนองทองลิ่ม มีการปลูกต้นไม้และบำรุงรักษามาอย่างต่อเนื่อง ในพื้นที่ 68 ไร่ มีพันธุ์พืชและสัตว์ป่าอยู่เป็นจำนวนมาก ถือเป็นมรดกที่สำคัญของคนในชุมชน และเปิดโอกาสให้ชาวบ้านทั้งในและนอกชุมชน ใช้ประโยชน์ร่วมกันได้

นอกจากนี้ ได้คัดสรรพันธุ์ไม้ที่เป็นไม้พื้นถิ่น สนองพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เรื่อง การปลูกป่า 3 อย่าง ได้ประโยชน์ 4 อย่าง คือ ไม้ใช้สอย ได้แก่ สะเดา ไม้ไผ่ ไม้เต็ง ไม้ตะแบก, ไม้กินได้ ได้แก่ ไม้ผล ไม้ใบ ผัก และสมุนไพรต่าง ๆ, ไม้เศรษฐกิจ ได้แก่ ไม้ที่ปลูกไว้ขาย และประโยชน์อย่างที่ 4 คือ ช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ โดยในป่าฯ แห่งนี้ ชาวบ้าน ได้เก็บไม้ที่ร่วงจากต้น ไปหมักทำน้ำส้มควันไม้ ไว้ไล่แมลงในครัวเรือน, นำดินจากจอมปลวก กลับไปหมักเป็นหัวเชื้อเห็ดโคน ที่บ้าน 7 วัน แล้วนำกลับมาไว้ที่ป่า เพื่อให้เห็ดโคนขึ้นได้ตามธรรมชาติ

ทั้งนี้ ในด้านสุขภาพ หากชาวบ้านเจ็บป่วย เป็นโรคที่ไม่รุนแรง ให้ดูแลสุขภาพด้วยการกินอาหารเป็นยาตามฤดูกาล เช่น ปลายฝนต้นหนาว กินแกงส้มดอกแค แก้ไข้หัวลม, เด็กป่วยโรคซาง หรือ โรคขาดสารอาหารและมีพยาธิ ใช้แก่นกระหาดต้มน้ำถ่ายพยาธิ นอกจากนี้ ยังมีสมุนไพรนานาชนิด ที่สามารถนำไปรักษาตามอาการได้ อาทิ กำแพงเจ็ดชั้น หรือ ตาไก้ ใช้บำรุงโลหิต บำรุงกำลัง ฟอกโลหิต แก้เบาหวาน, ย่านาง ช่วยเผาผลาญไขมัน ลดความดันโลหิตสูง บำรุงรักษาตับและไต, โปร่งฟ้า หรือ ล่องฟ้า ช่วยต้านมะเร็ง แก้ความจำเสื่อม เลิกบุหรี่ และอัมพาต

————–
จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงเรียนบ้านหนองทองลิ่ม ทอดพระเนตรแปลงเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ซึ่งจัดทำขึ้นมาตั้งแต่ปี 2555 เพื่อจัดอาหารกลางวันให้กับนักเรียนที่มีภาวะทุพโภชนาการ และนักเรียนที่ขาดแคลน ต่อมา มีการขยายความรู้เรื่องโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ยังหมู่บ้าน โรงเรียนฯ จัดสรรพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ร่วมกันปลูกพืชผักสวนครัว อาทิ บวบ ผักบุ้ง มะเขือเทศ และพริก // ไม้ผล อาทิ กล้วย ฝรั่ง มะพร้าว, เพาะเห็ดนางฟ้า // เลี้ยงสัตว์ อาทิ กบ และปลาดุก จนสามารถนำผลผลิตมาประกอบอาหารกลางวันได้อย่างเพียงพอ ลดปริมาณการจัดซื้อจากภายนอก เมื่อเหลือจำหน่ายยังชุมชน และนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้แก่ กล้วยฉาบ , ไข่เค็มจอมปลวก , น้ำพริกเผาปลาป่น และเห็ดสามรส จำหน่ายในสหกรณ์โรงเรียนและสหกรณ์หมู่บ้านจากการดำเนินงานโครงการอาหารกลางวัน นักเรียนมีภาวะโภชนาการที่ดีขึ้น ส่งผลให้มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น โดยผลทดสอบโอเน็ตในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีผลทดสอบสูงกว่าระดับประเทศ ในวิชาสังคมศึกษา , คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ รวมทั้งผลประเมินการอ่านออกเขียนได้ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง 6 อยู่ในระดับดี ……/ขอบคุณแหล่งที่มา สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดบุรีรัมย์

ใส่ความเห็น