จังหวัดบุรีรัมย์เตรียมเปิดศูนย์อนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำและนกกระเรียนพันธุ์ไทย ต้นเดือนสิงหาคม เพื่อให้เป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติและแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์

เมื่อวันนี้ (5ก.ค.62) นายดำรงชัย เนรมิตตกพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นประธานการประชุมติดตามความคืบหน้าของโครงการอนุรักษ์นกกระเรียนพันธุ์ไทย ซึ่งดำเนินการโดยองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย สวนสัตว์นครราชสีมา ร่วมกับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2554 เป็นการปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยคืนสู่ธรรมชาติ โดยเลือกแหล่งน้ำ 3 แหล่ง ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก อ่างเก็บน้ำห้วยตลาด อ.เมือง และ อ่างเก็บน้ำสนามบิน อ.ประโคนชัย ให้เป็นที่อยู่อาศัยของนกกระเรียนพันธุ์ไทย

จากการสำรวจติดตาม พบว่า นกกระเรียนพันธุ์ไทยที่ปล่อยไปทั้งหมดจำนวน 115 ตัว ปัจจุบันพบว่ามีเหลืออยู่ 71 ตัว ที่สามารถติดตามได้จากการฝังไมโครชิพและระบบจีพีเอส ซึ่งในจำนวนนี้ มีครอบครัวนกที่ฟักไข่ในพื้นที่เพิ่มจำนวน 3 ครอบครัว (นกกระเรียนพันธุ์ไทยจะเริ่มมีคู่ตอนอายุ3ปี และสามารถวางไข่ได้ตอน4ปี จึงทำให้ค่อนข้างช้า) และนกเหล่านี้ ยังคงหากินและอยู่อาศัยตามแหล่งน้ำต่าง ๆ ในจังหวัดบุรีรัมย์ และ ขยายอาณาเขตออกไปยังอำเภอต่าง ๆ รวมทั้งเขตพื้นที่รอยต่อกับจังหวัดสุรินทร์ โดยทางจังหวัดได้รณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้ทราบถึงความสำคัญในฐานะเป็นนกอนุรักษ์หายาก จึงลดอัตราการล่านกกระเรียนพันธุ์ไทยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทภาคเอกชน และ องค์กรมูลนิธิด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติมาช่วยรณรงค์สร้างความเข้าใจให้ชุมชนต่าง ๆ เห็นความสำคัญ และ อยู่ร่วมอาศัยกับนกกระเรียนพันธุ์ไทยอย่างสงบสุข

สำหรับ การเปิดศูนย์อนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ และ นกกนะเรียนพันธุ์ไทย จะจัดขึ้นที่อาคารนิทรรศการและหอชมนก ซึ่งมีการสร้างใหม่ โดยได้รับการสนับสนุนเงินจำนวน 10 ล้านบาทจากบริษัทภาคเอกชนในพื้นที่ เพื่อเป็นแหล่งศึกษาวิจัย และท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ ตั้งอยู่ที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มาก กำหนดเปิดในวันที่ 5 สิงหาคม 2562

สำหรับนกกระเรียน ในหลาย ๆ ประเทศเชื่อกันว่า เป็นสัตว์นำโชค และ ความมีอายุยืน ความมีรักเดียวใจเดียว รวมทั้ง วิถีชีวิตของนกกระเรียนจะชอบอยู่อาศัยในพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ปราศจากสารพิษสารเคมี ซึ่งหากพบเห็นนกกระเรียนอาศัยหรือหากินที่ใดนั่นแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติในพื้นที่นั้น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระราขทานนกกระเรียนพันธุ์ไทยตัวแรกให้กับทางองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยเพื่อนำไปเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์ ต่อมานกพระราชทานตัวดังกล่าวมีลูก พระองค์ได้พระราชทานนามให้ลูกนกตัวนั้นว่า “น้องเหินหาว” จึงเป็นชื่อพระราชทานที่เรียกติดปากว่า น้องเหินหาวคือนกกระเรียนพันธุ์ไทยนั่นเอง ซึ่ง น้องเหินหาวตัวที่ได้รับพระราชทานนาม ได้ถูกนำมาปล่อยในพื้นทีาชุ่มน้ำที่ จ.บุรีรัมย์ด้วย และ ยังคงได้รับการยืนยันจากทางองค์การสวนสัตว์ว่า ยังคงหากินและอยู่อาศัยในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์จนถึงปัจจุบัน

ขอบคุณ: ปชส บุรีรัมย์

ใส่ความเห็น