ข้อยกเว้นไม่จ่ายค่าชดเชย, ทุจริตต่อหน้าที่ ,เวลาพักไม่นับรวมเป็นเวลาทำงาน

หลายคนเข้าใจว่าข้อยกเว้นไม่จ่ายค่าชดเชยมีเพียง ๖ กรณีตามมาตรา ๑๑๙ นั้นเป็นความเข้าใจที่ถูกส่วนหนึ่ง แต่ในความเป็นจริงแล้ว กรณีไม่จ่ายค่าชดเชยนั้นมีมากกว่านั้น วันนี้จะสรุปให้ฟัง

  1. ลาออกเอง กรณีลาออกไม่จ่ายค่าชดเชย เพราะมาตรา ๕ บัญญัติว่าค่าชดเชยจ่ายเมื่อ “เลิกจ้าง” การลาออกเองไม่ใช่เลิกจ้างนายจ้างจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย (ฎีกา ๕๑๗๔/๒๕๔๘)
  2. เข้าร่วมโครงการเกษียณ (Early Retire) นายจ้างมักมีโครงการเกษียณก่อนกำหนด โดยมีผลตอบแทนเสนอลูกจ้างว่าถ้าเข้าร่วมโครงการจะได้ค่าตอบแทน โครงการเกษียณโดยสรุป คือ “การขอให้ลาออกเพื่อรับค่าตอบแทน” เมื่อเป็นการลาออก จึงไม่ใช่เลิกจ้าง ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย(ฎีกา ๓๒๔๘/๒๕๖๐)
  3. ตาย ตายไม่ใช่เลิกจ้าง จึงไม่ได้ค่าชดเชย
  4. ทำงานที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างแน่นอน และนายจ้างได้เลิกจ้างตามนั้น โดยจ้างกันไม่เกิน ๒ ปี ซึ่งเป็นงานดังนี้
    1. งานตามโครงการซึ่ง “ไม่ใช่” ธุระกิจหรือการ้าหรือการให้บริการปกติ (ถ้าโครงการในธุระกิจปกติไม่เข้าเงื่อนไขนี้)
    2. งานที่ทำเป็นครั้งคราว เช่น นาน ๆ มารับจ้างทำความสะอาดบ้านสักครั้ง
    3. งานตามฤดูกาล เช่น งานหีบอ้อย งานเก็บผลไม้
      เรื่องนี้เข้าใจผิดกันมากว่าถ้ามีสัญญาจ้างที่มีกำหนดแน่นอนแล้วไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ขอทำความเข้าใจใหม่ว่าการมีสัญญากำหนดแน่นอนต้องจ่ายค่าชดเชย (มาตรา ๑๑๘ วรรค) แต่กรณีไม่จ่ายค่าชดเชย นอกจากมีระยะเวลาการจ้างแน่นอนแล้ว ยังต้องเข้าองค์ประกอบหรือฟังได้ว่า “นายจ้างต้องเลิกจ้างตามระยะเวลาที่ตกลงกัน” ยังไม่พอ “สัญญาต้องไม่เกิน ๒ ปีอีกด้วย” และต้องเป็นงานอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๓ อย่างข้างต้นด้วย คือ งานตามโครงการ หรืองานที่ทำเป็นครั้งคราว หรืองานตามฤดูกาล
  5. ทำงานไม่ครบ ๑๒๐ วัน เหตุที่ไม่จ่ายกรณีนี้อยู่ในมาตรา ๑๑๘(๑) คือ กฎหมายกำหนดว่าให้จ่ายค่าชดเชย เมื่อทำงานครบ ๑๒๐ วัน ดังนั้นถ้าไม่ครบ ๑๒๐ วันก็ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
  6. ทุจริตต่อหน้าที่ แปลว่าประพฤติชั่ว หรือโกง อาจได้ไปซึ่งประโยชน์ของนายจ้าง (ถ้าไม่ได้ประโยชน์เขาเรียกประพฤติชั่ว ซึ่งก็เลิกจ้างได้โดยไม่จ่ายค่าชดเชย กรณีฝ่าฝืนระเบียบในการทำงานตามมาตรา ๑๑๙(๔)
  7. ทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง หากทำผิดอาญาโดยประมาท (ไม่เจตนา) เลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยกรณีนี้ไม่ได้
  8. จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย เช่น กรณีเฉี่ยยงาน (ทำงานช้าลงเพื่อแกล้งนายจ้าง) หรือปิดถนนประท้วงทำให้รถสินค้านายจ้างเข้าบริษัทไม่ได้
  9. ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง (กรณีประมาทแต่เสียหายไม่ร้ายแรงเลิกจ้างไม่ได้)
  10. ฝ่าฝืนระเบียบ คำสั่ง ข้อบังคับ “ร้ายแรง” คือ ถ้าเรื่องร้ายแรงเลิกจ้างได้เลย เช่น พกปืน หรือระเบิดเข้าบริษัท เป็นต้น
  11. ฝ่าฝืนระเบียบ คำสั่ง ข้อบังคับ “ไม่ร้ายแรง” แต่นายจ้างได้ออกหนังสือตักเตือนแล้วและทำผิดซ้ำในความผิดลักษณะเดิมภายใน ๑ ปี
  12. ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาทำงานติดต่อกัน ๓ วัน โดยไม่มีเหตุอันสมควร แต่ถ้ามีเหตุอันสมควรนายจ้างก็เลิกจ้างไม่ได้ ดังนั้น คำว่า “มีเหตุอันสมควร” คือข้อต่อสู้ของฝ่ายลูกจ้าง
  13. ทำผิดต่อนายจ้าง จนศาลพิพากษาถึงที่สุดให้ได้รับโทษจำคุกในทุกกรณี ย้ำว่าติดคุกที่ทำผิดกับนายจ้าง เลิกจ้างได้ทุกกรณีแม้ทำผิดโดยประมาท หรือเจตนา หรือลหุโทษก็ตาม
  14. ทำผิดต่อบุคคลอื่นที่ “ไม่ใช่นายจ้าง” จนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ได้รับโทษจำคุก เว้นแต่กรณีกระทำผิดโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ จะเห็นได้ว่าต่างกับติดคุกเพราะทำผิดแก่นายจ้าง กรณีทำผิดกับบุคคลอื่นต้องเป็นกรณีเจตนาเท่านั้น

ทุจริตต่อหน้าที่ นายจ้างเลิกจ้างได้โดยไม่จ่ายค่าชดเชย

การทุจริต แปลว่า ความประพฤติชั่ว โกง ไม่ซื่อตรง การทุจริต จะต้องได้ “ประโยชน์” หรือ “ช่องทางหาประโยชน์” อันเป็นประโยชน์ในลักษณะทรัพย์สิน

เคยมีคดีที่ลูกจ้างไม่ได้ประโยชน์แต่เรียกเก็บเงินเพื่อเอาไปจ่าย หรือจูงใจให้ผู้อื่นทุจริต ก็ถือไม่ได้ว่าลูกจ้างได้ประโยชน์

โดยคดีนี้ลูกจ้างเก็บเงินจากลูกจ้างต่างด้าว ให้ตำรวจ ตม. เพื่ออำนวยความสะดวกไม่ต้องเข้าคิวทำเอกสารทำให้การดำเนินการรวดเร็ว ไม่ใช่กรณีที่ลูกจ้างเอาเงินมาเป็นประโยชน์ส่วนตัว จึงไม่ใช่การทุจริต

ข้อสังเกต
๑) น่าคิดว่ากรณีนี้ตำรวจ ตม. ทุจริตหรือไม่เพราะมีการเรียกรับเงินแล้ว

๒) คำว่า “ประโยชน์” ไม่จำเป็นต้องเป็นประโยชน์เกี่ยวกับทรัพย์สินเท่านั้น แต่ให้พิจารณาว่านายจ้างต้องเสียหายจากการแสวงหาหรือการได้รับประโยชน์นั้น เช่น เบิกค่าเช่า หรือเบี้ยเลี้ยงทั้ง ๆ ที่ไม่มีสิทธิ หรือรับเงินประกันความเสียหายแล้วไม่นำส่งนายจ้าง

ที่มา หนังสือคุ้มครองแรงงาน (เล่มดำ). ตรีเนตร สาระพงษ์, หน้า ๖๙๘

เวลาพักไม่นับรวมเป็นเวลาทำงาน

ตามกฎหมายกำหนดให้นายจ้างจัดเวลาพักไม่น้อยกว่า ๑ ชั่วโมง หลังจากทำงานมาแล้วไม่เกิน ๕ ชั่วโมง แต่ห้ามพักเกิน ๒ ชั่วโมง หากพักเกิน ๒ ชั่วโมงต้องถือเป็นเวลาทำงาน เว้นแต่เป็นกิจการประเภทร้านอาหารที่พักเกิน ๒ ชั่วโมงได้

เมื่อนับรวมกับเวลาทำงานปกติซึ่งทั่วไปกฎหมายกำหนดให้ทำงานได้ไม่เกินวันละ ๘ ชั่วโมง

ดังนั้น วันหนึ่งๆ พนักงานหรือลูกจ้างจะอยู่ที่ทำงานกันวันละ ๙ ชั่วโมง (เวลาทำงาน ๘ ชั่วโมง + เวลาพัก ๑ ชั่วโมง)

ศาลฎีกาเคยมีคำพิพากษาว่านายจ้างให้พนักงานหรือลูกจ้างทำงานกะละ ๘ ชั่วโมง ๑๕ นาที กำหนดเวลาทำงานปกติหมายถึง “เวลาทำงานจริงๆ” โดย “ไม่นับรวมเวลาพักเข้าเป็นเวลาทำงาน” ปรากฎว่าคดีนี้มีเวลาพัก ๒๐ นาทีที่ต่อสู้กันว่าเป็นเวลาทำงานหรือไม่ ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฎว่าเป็นเวลาพัก จึงไม่นำมารวมเป็นเวลาทำงาน จึงทำให้นายจ้างจัดเวลาทำงาน ๘ ชั่วโมง ไม่ผิดกฎหมาย และ ๒๐ นาทีที่พิพาทกันก็ไม่ใช่ OT.

ที่มา คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๕๐๖/๒๕๒๗

เลือกติดตามกฎหมายแรงงานได้อีก 4 ช่องทาง
-instagram: https://bit.ly/3ncqcrY
-twitter: https://bit.ly/3vtP6Xy
-Youtube: https://bit.ly/3G9G0UP

โดย : รองศาสตราจารย์ตรีเนตร สาระพงษ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

แอดมิน Pages กฎหมายแรงงาน

ใส่ความเห็น