พช.บุรีรัมย์โดดเด่น ปูพรมลุยพื้นที่เอกซเรย์ครัวเรือนเปราะบาง เร่งแก้ไขปัญหาความยากจน

จังหวัดบุรีรัมย์-พช.บุรีรัมย์โดดเด่น ปูพรมลุยพื้นที่เอกซเรย์ครัวเรือนเปราะบาง เร่งแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาคนอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมบูรณาการทุกภาคส่วนขับเคลื่อน ศจพ.จ.

เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2564จังหวัดบุรีรัมย์ภายใต้การดำเนินงานแก้ไขปัญหาความยากจนตามแนวทางของศูนย์ขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงระดับจังหวัด (ศจพ.จ.) จังหวัดบุรีรัมย์ โดยมีนายธัชกร หัตถาธยากูล ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นประธานฯ เร่งดำเนินการตรวจสอบและยืนยันข้อมูลครัวเรือนเปราะบางเป้าหมายตาม TPMAP ในระดับพื้นที่ เพื่อเป็นการยืนยันเป้าหมายที่ถูกต้องและนำไปสู่การวางแผนเตรียมการดำเนินการขับเคลื่อนตามแผนชีวิตในการแก้ไขปัญหาในกลุ่มเปราะบางทั้ง 5 มิติซึ่งได้แก่ ด้านการศึกษา ด้านที่อยู่อาศัย ด้านสาธารณสุข ด้านรายได้ และการเข้าถึงสวัสดิการแห่งรัฐฯ
สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดบุรีรัมย์โดยนายเดโช วันทนาพิทักษ์ พัฒนาการจังหวัดบุรีรัมย์ ได้มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอลงพื้นที่สำรวจและยืนยันข้อมูลอย่างต่อเนื่อง แม่นยำ และทันต่อสถานการณ์ในทุกครัวเรือน ในพื้นที่ทั้ง 23 อำเภอ โดยมีการติดตามการดำเนินงานอย่างชัดเจนและรายงานเป้าหมายในระดับพื้นที่จะต่อเนื่อง และในขณะเดียวกันวันที่ 17 ธันวาคม 2564 นางสาวเพชรรัตน์ ภูมาศ นายอำเภอนางรอง มอบหมายให้ ทีมขับเคลื่อนขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลบุคคล ครัวเรือนเป้าหมายในระบบ TPMAP กลุ่มคนที่ตกหล่นจากระบบ TPMAP และกลุ่มเปราะบาง สำหรับใช้เป็นข้อมูลในการติดตาม ตรวจสอบข้อมูล ในพื้นที่หมู่ที่ 1 บ้านหนองกง หมู่ที่ 2 บ้านโคกพัฒนา หมู่ที่ 5 บ้านตาตึ๊ด หมู่ที่ 7 บ้านโคกศรีพัฒนา และหมู่ที่ 6 บ้านโคกพลวง ตำบลหนองกง อำเภอนางรองจังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 16 ครัวเรือน
จากการลงพื้นที่สำรวจฯ พบสภาพปัญหาความยากจน 5 มิติ คือด้านสุขภาพ ความเป็นอยู่ การศึกษา รายได้ และ การเข้าถึงบริการภาครัฐซึ่งส่งผลต่อสภาพความเป็นอยู่ของครัวเรือนเป้าหมาย ทั้งนี้ทีมขับเคลื่อนขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตำบลหนองกง ได้เก็บข้อมูลและรวบรวมปัญหาเพื่อนำเสนอในเวทีระดับอำเภอซึ่งถือเป็นการขับเคลื่อนโดยศูนย์ขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในระดับอำเภอเพื่อส่งต่อให้ทีมปฏิบัติการระดับตำบลและทีมพี่เลี้ยงในการจัดทำแผนชีวิตต่อไป
ซึ่งในวันเดียวกันมีการลงพื้นที่เป้าหมายตรวจสอบกลุ่มเปราะบางในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์อีก ทั้ง 23 อำเภอ เช่น อำเภอบ้านด่าน ลงพื้นที่ตรวจสอบตำบลวังเหนือ อำเภอพุทไธสง ลงพื้นที่ตรวจสอบและยืนยันข้อมูลในเขตตำบลพุทไธสง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ลงพื้นที่ที่ตรวจสอบในเขตพื้นที่ตำบลสะแกซำ และอำเภอคูเมืองลงพื้นที่ตรวจสอบในพื้นที่ตำบลหินเหล็กไฟเป็นต้น
ในขณะเดียวกันกลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชนสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดบุรีรัมย์โดยนายทองใจ ปุยไธสงผู้อำนวยการกลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชนและทีมนักวิชาการฯ ได้มีการรวบรวมนำเสนอข้อมูลและจัดหมวดหมู่ข้อมูลเพื่อวิเคราะห์และเป็นฐานข้อมูลในการตัดสินใจที่แม่นยำให้กับผู้บริหารและคณะกรรมการศูนย์กำจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งจังหวัดบุรีรัมย์มีครัวเรือนเป้าหมายที่ต้องทำการตรวจสอบตามระบบ TPMAP ทั้งสิ้น 22,230 ครัวเรือน ในทั้ง 5 มิติ โดยมีเป้าหมายในการตรวจสอบและยืนยันข้อมูลให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 20 ธันวาคม 2564 ซึ่งในการขับเคลื่อนงานแก้ไขปัญหาความยากจนในระดับจังหวัดนี้นายเดโช วันทนาพิทักษ์ พัฒนาการจังหวัดบุรีรัมย์ ในนามกรรมการและเลขานุการ ศจพ.จ. กล่าวว่า “ข้อมูลใน TPMAP คือเป็นข้อมูลตั้งต้นที่นำเอาผลสำรวจข้อมูล จปฐ. ในปี 2562 มาประมวลผลไน 17 ตัวชี้วัดซึ่งครอบคลุมการดำเนินชีวิตในทั้ง 5 มิติ ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญมากในการวางกรอบคัดเลือกเป้าหมายเพื่อนำไปสู่การพัฒนาดังนั้นการบูรณาการและการลงพื้นที่ในการสำรวจข้อมูลเบื้องต้นที่แม่นยำและรวดเร็ว จะทำให้การพัฒนาและแก้ไขปัญหาความยากจนของจังหวัดบุรีรัมย์เป็นไปอย่างถูกต้องรวดเร็วและพี่น้องประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาความยากจนในระดับประเทศต่อไป” นายเดโช กล่าวฯ

ข่าวโดย: สำนักงาน พัฒนาชุมชนจังหวัดบุรีรัมย์