“รับคนบุรีรัมย์กลับบ้าน มีที่รักษา มีที่กักตัว ครบ 14 วัน ได้ฉีดวัคซีนทุกคน กลับมาไม่แจ้งดำเนินคดี มีโทษสูงสุด “

วันนี้ 1 กค 2564  เวลา 13.00 น  ณ. สนามช้างเซอร์กิตอินเตอร์เนชั่นแนล อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์  นายธัชกร หัตถาธยากูล ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ นายแพทย์พิเชษฐ พืดขุนทด นายแพทย์ สาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ พล.ต.ต.รุทธพล เนาวรัตน์ ผบก.ภ.จว.บุรีรัมย์ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบุรีรัมย์ ร่วมแถลงข่าว ประเด็น ผู้จับกุมผู้ละเมิด ไม่ปฏิบัติตามประกาศ จังหวัดบุรีรัมย์

จากเหตุการณ์การระบาดในแคมป์คนงานก่อสร้างซึ่งกระจายไปในหลายแห่งในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่ง ศบค. ได้ประกาศกำหนดปิดแคมป์ดังกล่าวเป็นระยะเวลา 1 เดือน คือ ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป ทำให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงมีโอกาสเดินทางกลับไปยังภูมิลำเนาเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการแพร่กระจายของโรคฯ เป็นบริเวณกว้างซึ่งจังหวัดบุรีรัมย์โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบุรีรัมย์ได้มีมติจัดเตรียมพื้นที่กักกันโรคของรัฐในระดับจังหวัด/อำเภอ (Local Quarantine) ในท้องที่ที่อำเภอกำหนด เพื่อรองรับสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่อาจเกิดการแพร่ระบาดที่รุนแรงเป็นบริเวณกว้าง

จากข้อมูลการเฝ้าระวัง พบว่าขณะนี้มีประชาชนที่เดินทางมาจากพื้นที่สีแดงเข้ม และพื้นที่สีแดง ได้กักกันตัวในพื้นที่กักกันโรคของรัฐในระดับจังหวัด/อำเภอ (Local Quarantine) ในท้องที่ที่อำเภอกำหนด จำนวน 654 ราย กักกันตัวอยู่ที่บ้าน จำนวน 20,635 ราย (เฝ้าระวังยังไม่ครบ 14 วัน จำนวน 641 ราย) แต่ยังคงพบเหตุการณ์มีผู้ ติดเชื้อที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงที่พบการระบาดของโรคโดยไม่ผ่านการกันกันตัวตามประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบุรีรัมย์ที่กำหนด  ดังรายละเอียดข้อมูลที่ท่านนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์จะแถลงต่อไปนี้

นายพิเชษฐ  พืดขุนทด  นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์)  กล่าวว่า  ไม่แจ้ง ไม่ตรวจ ไม่กักตัว เกิดปัญหา Super spreader ปิดถึง 5 โรงเรียน

 จังหวัดบุรีรัมย์ ในขณะนี้พบผู้ป่วยยืนยันสะสม ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 จำนวน 304 ราย อยู่ระหว่างการรักษา จำนวน 75 ราย หายป่วยและกลับบ้านแล้ว จำนวน 226 ราย เสียชีวิตสะสม  3 ราย ซึ่งยังคงพบเหตุการณ์สำคัญที่ต้องเฝ้าระวังฯ ในพื้นที่อย่างใกล้ชิด คือ กรณีประชาชนกลุ่มเสี่ยงไม่ปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบุรีรัมย์ ในพื้นที่บ้านปลัดชุมแสง ตำบลบ้านบัว อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ และต่อมาภายหลังได้ตรวจพบเชื้อโควิด-19 โดยผู้ป่วยรายนี้เป็นเพศชาย อายุ 41 ปี ประกอบอาชีพช่างก่อสร้าง พุทธมณฑลสาย 1 ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่จังหวัดกรุงเทพมหานคร โดยมีประวัติการเดินทางมายังจังหวัดบุรีรัมย์ ดังนี้

วันที่ 25 มิถุนายน 2564 เดินทางมาจากกรุงเทพมหานครโดยขับรถยนต์ส่วนตัว ไม่มีผู้โดยสารร่วม  ซึ่งถือเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ประกาศกำหนด และสอดคล้องตามประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบุรีรัมย์ ทั้งนี้ ชายผู้นี้ได้ขับรถยนต์ส่วนตัวถึงบ้านปลัดชุมแสง ตำบลบ้านบัว อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ในช่วงเวลาตี 1 ของวันที่ 26 มิถุนายน 2564  โดยไม่ได้รายงานตัว หรือแจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ ซึ่งมีพฤติกรรมเสี่ยงในการดำเนินชีวิตตลอดระยะเวลาที่พักอาศัยในจังหวัดบุรีรัมย์ เช่น ขับรถไปส่งและรับบุตรชายเพื่อเรียนพิเศษ รวมทั้งพูดคุยพบปะกับเพื่อนบ้าน เป็นต้น

ต่อมา ในวันที่ 28 มิถุนายน 2564 ชายรายดังกล่าวพบอาการผิดปกติ จึงเดินทางไปโรงพยาบาลบุรีรัมย์ เพื่อตรวจทางห้องปฏิบัติการหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี Rapid Test ผลการตรวจพบเชื้อโควิด-19 และตรวจยืนยันอีกครั้งด้วยเทคนิค Real time RT-PCR  ผลตรวจพบเชื้อโควิด-19 ซึ่งขณะนี้ผู้ป่วยยังคงอยู่ระหว่างพักรักษาตัว ณ โรงพยาบาลบุรีรัมย์

จากการค้นหาผู้สัมผัสเพิ่มเติมในครอบครัวและชุมชน พบว่า มีผู้สัมผัสเพิ่มเติมรวมทั้งสิ้น จำนวน 9 ราย โดยแบ่งเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดภายในครอบครัว จำนวน 6 ราย (ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบตามจำนวนแล้ว 2 ราย) และเป็นผู้สัมผัสที่เป็นเพื่อนบ้านใกล้เคียง จำนวน 3 ราย ขณะนี้ผู้สัมผัสทุกรายอยู่ระหว่างการกักตัวเพื่อเฝ้าระวังอาการอย่างใกล้ชิดตามแนวทางการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคฯ ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด และเป็นเหตุให้เกิดความกังวลให้ผู้อำนวยการโรงเรียนสั่งปิดโรงเรียนถึง 5 โรงเรียน ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับการกระทำความผิดและบทลงโทษในทางกฎหมายขออนุญาตนำเรียนท่านผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองบุรีรัมย์ได้ชี้แจงเป็นลำดับต่อไป

พลตำรวจตรี รุทธพล เนาวรัตน์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า  จากข้อมูลข้างต้น  จะเห็นได้ว่าผู้ป่วยรายนี้ฝ่าฝืนไม่ได้ปฏิบัติตนเพื่อเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 ตามประกาคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดบุรีรัมย์ เรื่อง การป้องกันการระบาดใหม่ของ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2564 แก้ไขเพิ่มเติม ครั้งที่ 9 ถือว่ามีความผิด ที่ต้องรับโทษ ดังต่อไปนี้

        ผู้ป่วยรายนี้กระทำความผิด โดยฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดบุรีรัมย์ เรื่อง การป้องกันการระบาดใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  พ.ศ.2564 แก้ไขเพิ่มเติม ครั้งที่ 9  ในข้อ 8  ประกาศ  ณ วันที่ 25 มิถุนายน 2564  คือ

ผู้ที่เดินทางเข้ามาในจังหวัดบุรีรัมย์ ที่มาจากจังหวัด 1) พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือ 2) พื้นที่ควบคุมสูงสุด ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ประกาศกำหนด และที่ ศบค. จะมีการแก้ไขในภายหน้า (ถ้ามี) ให้ผู้เดินทางทุกคนต้องรายงานตัวกับเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อที่ด่านคัดกรองโควิดในพื้นที่ และต้องกักกันตัว 14 วัน ณ พื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐ ระดับจังหวัด/อำเภอ (Local Quarantine) ในท้องที่ที่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ฝ่ายสาธารณสุขกำหนด ซึ่งบทลงโทษ ผู้ใดฝ่าฝืน ข้อ 8/1วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท ตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558

        นายธัชกร หัตถาธยากูล  ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์  กล่าวว่า เพื่อความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนชนชาวจังหวัดบุรีรัมย์ที่ต้องการกลับมา ทั้งรักษาตัวและกักตัวสามารถประสานงานล่วงหน้าที่เบอร์ Hotline EOC COVID จังหวัดบุรีรัมย์ที่เบอร์ 191 หรือ 044-602-215 หรือเบอร์โทรศัพท์ Hotline EOC COVID ประจำหน่วยบริการสาธารณสุขในพื้นที่ สามารถติดตามที่เพจ สสจ.บุรีรัมย์ สุดท้ายนี้ขอความร่วมมือจากประชาชนทุกท่านที่จะเดินทางเข้าสู่จังหวัดบุรีรัมย์  ขอให้ท่านได้ปฏิบัติตนตามประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบุรีรัมย์อย่างเคร่งครัด เพื่อให้คนบุรีรัมย์ปลอดภัยปลอดโรคและมีสุขภาพที่ดีร่วมกัน พร้อมเปิดเมืองต้อนรับนักท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้ และสร้างความสุขให้คืนกลับมาสู่พี่น้องชาวบุรีรัมย์ดังเดิม

ข้าวมีกิน  หมอมีให้  กักตัวครบ  จบด้วยวัคซีนกลับมาไม่แจ้ง  ดำเนินคดี  มีโทษสูงสุด

ใส่ความเห็น