ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ระดมทุกภาคส่วนร่วมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง พร้อมเตรียมจัดบวงสรวง สวดจริญพระพุทธมนต์ตามความเชื่อเพื่อขอให้ฝนตกตามฤดูกาล

เมื่อวันที่20 ก.ค.63 เวลา10.30 น. นายธัชกร หัตถาธยากูล ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำกรณีฝนทิ้งช่วง ณ ห้องประชุมนารายณ์บรรทมสินธุ์ ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดบุรีรัมย์ โดยมีหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมด้วย
ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า จังหวัดบุรีรัมย์ประสบปัญหาภาวะความแห้งแล้งเนื่องจากฝนที่ตกในพื้นที่มีปริมาณน้อยและภาวะฝนทิ้งช่วงในปี 2561 ถึง 2562 2 ปีต่อเนื่อง และในปี 2563 ตั้งแต่ช่วงเข้าสู่ฤดูฝนเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันมีปริมาณฝนตกค่อนข้างน้อย ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำน้อยกว่าเกณฑ์ปกติ โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มากและอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำที่เป็นแหล่งน้ำดิบที่ใช้ผลิตน้ำประปาเพื่อการอุปโภคบริโภคสำหรับประชาชนในเขตชุมชนเมืองบุรีรัมย์และอำเภอข้างเคียงทำให้เกิดวิกฤตการณ์ขาดแคลนน้ำประชาชนและ สถานประกอบกิจการต่างๆได้รับความเดือดร้อนประกอบกับจังหวัดบุรีรัมย์เป็นเมืองท่องเที่ยวมีการเติบโตของเมืองค่อนข้างเร็วแต่การบริการสิ่งสาธารณูปโภคไม่สามารถให้บริการได้อย่างทั่วถึง
ที่ผ่านมาทุกภาคส่วนรวมถึงภาคประชาชน ได้ดำเนินการทุกวิธีเพื่อหาน้ำมาใช้ให้เพียงพอในการอุปโภคบริโภค ทั้ง สูบผันน้ำจากห้วยสวาย และเหมืองหินมาใช้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน การลดแรงดันน้ำเพื่อให้ยืดระยะเวลาให้มีน้ำใช้ถึงต้นฤดูฝน ในส่วนของชลประทานได้เร่งก่อสร้างเส้นทางผันน้ำ ขุดลอก อ่างเก็บน้ำเพื่อเตรียมรองรับน้ำฝน นอกจากนั้น ยังมีการสำรวจเพื่อเตรียมเจาะน้ำใต้ดินมาใช้ในการผลิตประปาด้วย แต่ ปริมาณน้ำที่คำนวณได้ คาดว่าจะไม่เพียงพอสำหรับให้บริการประชาช

ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ เข้าสู่ต้นฤดูฝนแล้ว แต่ปริมาณน้ำฝนยังคงมีน้อย และหลายพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ข้าวกล้าของเกษตรกร แห้งตาย ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับประชาชน พี่น้องเกษตรกรชาวบุรีรัมย์ จังหวัดจะได้ร่วมกับประชาชนชาวบุรีรัมย์ และทุกภาคส่วน ในการจัดทำพิธีบวงสรวง และสวดมนต์ บทเจริญพระพุทธสุขาภิยาจนคาถา เพื่อขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขอให้ฝนตกตามฤดูกาล ตามความเชื่อแต่โบราณ โดยจะจัดใน ระหว่างวันที่ 23 – 29 กรกฎาคม 2563 ช่วงเวลา 16.09 น. เป็นต้นไป ณ บริเวณ อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก
ในการจัดพิธีบวงสรวงและสวดบทเจริญพระพุทธสุขาภิยาจนคาถาครั้งนี้ ได้อาราธนาพระพุทธรูปองค์สำคัญคือ พระคันธารราฐ องค์จตุคามรามเทพ และน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ จากจังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมได้นิมนต์พระเกจิอาจารย์จากทุกสารทิศมาร่วมพิธีสวดเจริญพระพุทธมนต์ด้วย

ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนชาวบุรีรัมย์ แต่งกายชุดผ้าไทย หรือชุดสุภาพ โทนสีขาวหรือเหลือง เข้าร่วมพิธีบวงสรวงและสวดมนต์ ตั้งจิตอธิษฐานขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ 1 ดวงจิต คือ 1 พลัง และขอเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาประชาชนชาวบุรีรัมย์ ร่วมทำบุญ หรือออกโรงทาน ในการจัดพิธีอันศักดิ์สิทธ์นี้ด้วยกัน
ทั้งนี้ ภายหลังการประชุม ตัวแทนกำนันผู้ใหญ่บ้านจังหวัดบุรีรัมย์ ได้เข้ามอบเงินร่วมทำบุญในการจัดพิธีในครั้งนี้ด้วย

สำหรับพระพุทธรูปปางคันธารราฐหรือปางขอฝน ( ยืน ) พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน ทรงผ้าวัสสิกสาฎก ( ผ้าอาบน้ำฝน ) พระหัตถ์ขวายกขึ้นเป็นกิริยากวัก แสดงอาการขอฝน พระหัตถ์ซ้ายหงายรองรับน้ำฝน

ความเป็นมาของปางคันธารราฐหรือปางขอฝน ( ยืน ) สมัยหนึ่งนครสาวัตถี แคว้นโกศล เกิดความแห้งแล้ง ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล พืชผลได้รับความเสียหาย ประชาชนขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค สระโบกขรณี ( สระบัว ) ภายในพระเชตวันมหาวิหารก็แห้งขอดติดก้นสระ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีพระประสงค์จะอนุเคราะห์แก่มหาชน พระพุทธองค์ทรงผ้าวัสสิกสาฎก ( ผ้าอาบน้ำฝน ) แล้วเสด็จไปประทับ ณ บันไดสระ ยกพระหัตถ์ขวาขึ้นกวักเรียกฝน พระหัตถ์ซ้ายรองรับน้ำฝน ทันใดนั้นบังเกิดมหาเมฆตั้งเค้าขึ้นพร้อมกัน ในทุกทิศานุทิศ ด้วยพุทธานุภาพและพระมหากรุณาต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย ฝนได้ตกลงมาเป็นอัศจรรย์
ตั้งแต่นั้นมา เมื่อตำบลใดเกิดข้าวยากหมากแพงหรือฝนแล้ง ชาวบ้านก็จะพากันอาราธนาพระคันธารราฐนั้นออกมาทำพิธีขอฝน ซึ่งก็มีอภินิหารเป็นที่น่าอัศจรรย์ที่จะเกิดฝนตกทุกครั้ง

ใส่ความเห็น