ข้อยกเว้นไม่จ่ายค่าชดเชย, ทุจริตต่อหน้าที่ ,เวลาพักไม่นับรวมเป็นเวลาทำงาน
หลายคนเข้าใจว่าข้อยกเว้นไม่จ่ายค่าชดเชยมีเพียง ๖ กรณีตามมาตรา ๑๑๙ นั้นเป็นความเข้าใจที่ถูกส่วนหนึ่ง แต่ในความเป็นจริงแล้ว กรณีไม่จ่ายค่าชดเชยนั้นมีมากกว่านั้น วันนี้จะสรุปให้ฟัง
- ลาออกเอง กรณีลาออกไม่จ่ายค่าชดเชย เพราะมาตรา ๕ บัญญัติว่าค่าชดเชยจ่ายเมื่อ “เลิกจ้าง” การลาออกเองไม่ใช่เลิกจ้างนายจ้างจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย (ฎีกา ๕๑๗๔/๒๕๔๘)
- เข้าร่วมโครงการเกษียณ (Early Retire) นายจ้างมักมีโครงการเกษียณก่อนกำหนด โดยมีผลตอบแทนเสนอลูกจ้างว่าถ้าเข้าร่วมโครงการจะได้ค่าตอบแทน โครงการเกษียณโดยสรุป คือ “การขอให้ลาออกเพื่อรับค่าตอบแทน” เมื่อเป็นการลาออก จึงไม่ใช่เลิกจ้าง ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย(ฎีกา ๓๒๔๘/๒๕๖๐)
- ตาย ตายไม่ใช่เลิกจ้าง จึงไม่ได้ค่าชดเชย
- ทำงานที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างแน่นอน และนายจ้างได้เลิกจ้างตามนั้น โดยจ้างกันไม่เกิน ๒ ปี ซึ่งเป็นงานดังนี้
- งานตามโครงการซึ่ง “ไม่ใช่” ธุระกิจหรือการ้าหรือการให้บริการปกติ (ถ้าโครงการในธุระกิจปกติไม่เข้าเงื่อนไขนี้)
- งานที่ทำเป็นครั้งคราว เช่น นาน ๆ มารับจ้างทำความสะอาดบ้านสักครั้ง
- งานตามฤดูกาล เช่น งานหีบอ้อย งานเก็บผลไม้
เรื่องนี้เข้าใจผิดกันมากว่าถ้ามีสัญญาจ้างที่มีกำหนดแน่นอนแล้วไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ขอทำความเข้าใจใหม่ว่าการมีสัญญากำหนดแน่นอนต้องจ่ายค่าชดเชย (มาตรา ๑๑๘ วรรค) แต่กรณีไม่จ่ายค่าชดเชย นอกจากมีระยะเวลาการจ้างแน่นอนแล้ว ยังต้องเข้าองค์ประกอบหรือฟังได้ว่า “นายจ้างต้องเลิกจ้างตามระยะเวลาที่ตกลงกัน” ยังไม่พอ “สัญญาต้องไม่เกิน ๒ ปีอีกด้วย” และต้องเป็นงานอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๓ อย่างข้างต้นด้วย คือ งานตามโครงการ หรืองานที่ทำเป็นครั้งคราว หรืองานตามฤดูกาล
- ทำงานไม่ครบ ๑๒๐ วัน เหตุที่ไม่จ่ายกรณีนี้อยู่ในมาตรา ๑๑๘(๑) คือ กฎหมายกำหนดว่าให้จ่ายค่าชดเชย เมื่อทำงานครบ ๑๒๐ วัน ดังนั้นถ้าไม่ครบ ๑๒๐ วันก็ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
- ทุจริตต่อหน้าที่ แปลว่าประพฤติชั่ว หรือโกง อาจได้ไปซึ่งประโยชน์ของนายจ้าง (ถ้าไม่ได้ประโยชน์เขาเรียกประพฤติชั่ว ซึ่งก็เลิกจ้างได้โดยไม่จ่ายค่าชดเชย กรณีฝ่าฝืนระเบียบในการทำงานตามมาตรา ๑๑๙(๔)
- ทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง หากทำผิดอาญาโดยประมาท (ไม่เจตนา) เลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยกรณีนี้ไม่ได้
- จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย เช่น กรณีเฉี่ยยงาน (ทำงานช้าลงเพื่อแกล้งนายจ้าง) หรือปิดถนนประท้วงทำให้รถสินค้านายจ้างเข้าบริษัทไม่ได้
- ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง (กรณีประมาทแต่เสียหายไม่ร้ายแรงเลิกจ้างไม่ได้)
- ฝ่าฝืนระเบียบ คำสั่ง ข้อบังคับ “ร้ายแรง” คือ ถ้าเรื่องร้ายแรงเลิกจ้างได้เลย เช่น พกปืน หรือระเบิดเข้าบริษัท เป็นต้น
- ฝ่าฝืนระเบียบ คำสั่ง ข้อบังคับ “ไม่ร้ายแรง” แต่นายจ้างได้ออกหนังสือตักเตือนแล้วและทำผิดซ้ำในความผิดลักษณะเดิมภายใน ๑ ปี
- ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาทำงานติดต่อกัน ๓ วัน โดยไม่มีเหตุอันสมควร แต่ถ้ามีเหตุอันสมควรนายจ้างก็เลิกจ้างไม่ได้ ดังนั้น คำว่า “มีเหตุอันสมควร” คือข้อต่อสู้ของฝ่ายลูกจ้าง
- ทำผิดต่อนายจ้าง จนศาลพิพากษาถึงที่สุดให้ได้รับโทษจำคุกในทุกกรณี ย้ำว่าติดคุกที่ทำผิดกับนายจ้าง เลิกจ้างได้ทุกกรณีแม้ทำผิดโดยประมาท หรือเจตนา หรือลหุโทษก็ตาม
- ทำผิดต่อบุคคลอื่นที่ “ไม่ใช่นายจ้าง” จนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ได้รับโทษจำคุก เว้นแต่กรณีกระทำผิดโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ จะเห็นได้ว่าต่างกับติดคุกเพราะทำผิดแก่นายจ้าง กรณีทำผิดกับบุคคลอื่นต้องเป็นกรณีเจตนาเท่านั้น

ทุจริตต่อหน้าที่ นายจ้างเลิกจ้างได้โดยไม่จ่ายค่าชดเชย
การทุจริต แปลว่า ความประพฤติชั่ว โกง ไม่ซื่อตรง การทุจริต จะต้องได้ “ประโยชน์” หรือ “ช่องทางหาประโยชน์” อันเป็นประโยชน์ในลักษณะทรัพย์สิน
เคยมีคดีที่ลูกจ้างไม่ได้ประโยชน์แต่เรียกเก็บเงินเพื่อเอาไปจ่าย หรือจูงใจให้ผู้อื่นทุจริต ก็ถือไม่ได้ว่าลูกจ้างได้ประโยชน์
โดยคดีนี้ลูกจ้างเก็บเงินจากลูกจ้างต่างด้าว ให้ตำรวจ ตม. เพื่ออำนวยความสะดวกไม่ต้องเข้าคิวทำเอกสารทำให้การดำเนินการรวดเร็ว ไม่ใช่กรณีที่ลูกจ้างเอาเงินมาเป็นประโยชน์ส่วนตัว จึงไม่ใช่การทุจริต
ข้อสังเกต
๑) น่าคิดว่ากรณีนี้ตำรวจ ตม. ทุจริตหรือไม่เพราะมีการเรียกรับเงินแล้ว
๒) คำว่า “ประโยชน์” ไม่จำเป็นต้องเป็นประโยชน์เกี่ยวกับทรัพย์สินเท่านั้น แต่ให้พิจารณาว่านายจ้างต้องเสียหายจากการแสวงหาหรือการได้รับประโยชน์นั้น เช่น เบิกค่าเช่า หรือเบี้ยเลี้ยงทั้ง ๆ ที่ไม่มีสิทธิ หรือรับเงินประกันความเสียหายแล้วไม่นำส่งนายจ้าง
ที่มา หนังสือคุ้มครองแรงงาน (เล่มดำ). ตรีเนตร สาระพงษ์, หน้า ๖๙๘

เวลาพักไม่นับรวมเป็นเวลาทำงาน
ตามกฎหมายกำหนดให้นายจ้างจัดเวลาพักไม่น้อยกว่า ๑ ชั่วโมง หลังจากทำงานมาแล้วไม่เกิน ๕ ชั่วโมง แต่ห้ามพักเกิน ๒ ชั่วโมง หากพักเกิน ๒ ชั่วโมงต้องถือเป็นเวลาทำงาน เว้นแต่เป็นกิจการประเภทร้านอาหารที่พักเกิน ๒ ชั่วโมงได้
เมื่อนับรวมกับเวลาทำงานปกติซึ่งทั่วไปกฎหมายกำหนดให้ทำงานได้ไม่เกินวันละ ๘ ชั่วโมง
ดังนั้น วันหนึ่งๆ พนักงานหรือลูกจ้างจะอยู่ที่ทำงานกันวันละ ๙ ชั่วโมง (เวลาทำงาน ๘ ชั่วโมง + เวลาพัก ๑ ชั่วโมง)
ศาลฎีกาเคยมีคำพิพากษาว่านายจ้างให้พนักงานหรือลูกจ้างทำงานกะละ ๘ ชั่วโมง ๑๕ นาที กำหนดเวลาทำงานปกติหมายถึง “เวลาทำงานจริงๆ” โดย “ไม่นับรวมเวลาพักเข้าเป็นเวลาทำงาน” ปรากฎว่าคดีนี้มีเวลาพัก ๒๐ นาทีที่ต่อสู้กันว่าเป็นเวลาทำงานหรือไม่ ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฎว่าเป็นเวลาพัก จึงไม่นำมารวมเป็นเวลาทำงาน จึงทำให้นายจ้างจัดเวลาทำงาน ๘ ชั่วโมง ไม่ผิดกฎหมาย และ ๒๐ นาทีที่พิพาทกันก็ไม่ใช่ OT.
ที่มา คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๕๐๖/๒๕๒๗
เลือกติดตามกฎหมายแรงงานได้อีก 4 ช่องทาง
-instagram: https://bit.ly/3ncqcrY
-twitter: https://bit.ly/3vtP6Xy
-Youtube: https://bit.ly/3G9G0UP
โดย : รองศาสตราจารย์ตรีเนตร สาระพงษ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี